รัฐบาลมั่นใจ “BCG” ฉลุย ฟุ้งไทยหากสำเร็จจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
“ทิพานัน” เผยภาพรวมBCGไทยคืบหน้าแล้ว30% ยกกระแสรถEV-พลังงานทดแทน -อุตฯไบโอพลาสติก ขยายตัวเร็วในระยะต่อไป อานิสสงส์เอเปคดันสินค้าBCG ไร้พรมแดน พลิกโฉมไทยสู่วิถีใหม่ เศรษฐกิจ สังคม โตยั่งยืน รักษาสิ่งแวดล้อมให้คนรุ่นถัดไป
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากเป้าหมายของไทยที่จะลดการปล่อย ‘ก๊าซเรือนกระจก’ ให้ได้ 20-25% หรือ 111-139 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2573 เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีให้คนรุ่นถัดไป ดังนั้นแม้การประชุมเอเปก2022 จะผ่านพ้นไป แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับให้ทุกภาคส่วนผลักดันเป้าหมายกรุงเทพฯ คือแนวการพัฒนาเศรษฐกิจBCGไปสู่การปฏิบัติอย่างเข้มข้น
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า นายสุพัฒนพงศ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมตระหนักถึงความสำคัญของแนวทาง BCG ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยืนโดยประยุกต์แนวทางBCG มาใช้ตั้งแต่ระดับบุคคลในชีวิตประจำวัน ต่อยอดไปสู่ชุมชน และอุตสาหกรรมใหญ่
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ภาพรวมของการพัฒนาBCGในประเทศไทยมีความคืบหน้าไปกว่า30%แล้ว ในระยะต่อไป70% ที่เหลือคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการขยายผลไปอย่างกว้างขวาง โดยจะเห็นได้จากการประยุกต์ใช้แนวทางBCG ในครัวเรือน การแยกขยะ ทำโรงเรือนปลูกผัก การทำปุ๋ยจากเศษอาหาร ไปจนถึงเปลี่ยนพืชพันธุ์เกษตรเป็นพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECI โรงกลั่นชีวภาพที่สามารถแยกสารต่างๆออกจากผลิตภัณฑ์การเกษตรต่างๆ สร้างมูลค่าเพิ่มนำไปต่อยอดได้ โดยปัจจุบันมีบางโรงงานพลาสติกชีวภาพ หรือไบโอพลาสติกในเมืองไทยเกิดขึ้นแล้ว
หากสำเร็จโดยพร้อมเพรียงกันจะใหญ่ที่สุดในโลก โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ไทยเป็นรายแรกๆของโลกที่เอาโซล่าเซลล์ไปวางบนแผ่นน้ำ ไม่ต้องเปลืองที่ดิน ที่เห็นผลทันทีคือกระแสตื่นตัวซื้อยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV และการลงทุนจากผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งรถขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯที่เป็นรถไฟฟ้า จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลยกประเด็น BCGเป็นเป้าหมายกรุงเทพฯในการประชุมเอเปค2022 เพื่อให้สินค้า BCG เป็นสินค้าที่ไร้พรมแดน สามารถขายได้ทุกประเทศ โดยที่ไม่มีข้อต่อรองทางการค้ามากจนเกินไป เป็นการยกระดับ BCG ให้เป็นวัตถุประสงค์ร่วมกันของคนทั้งโลก
“จะเห็นได้ว่า แนวทางBCGได้เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้วมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก โดยที่หลายฝ่ายอาจไม่ทันรู้ตัวถึงความเปลี่ยนแปลง สะท้อนความสำเร็จของรัฐบาลได้พลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมไปสู่วิถีใหม่ ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้กับประชากรไทยและประชากรโลก และอนาคตที่ดีของคนรุ่นถัดไป ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนที่ดีขึ้นทุกระดับไปจนถึงฐานราก” นางสาวทิพานัน กล่าว