กบง.คลอดแล้ว!! มาตรการบรรเทาราคาพลังงานอุ้มคนจน
กบง. ขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบราคาก๊าซหุงต้ม ชงแนวทางช่วยเหลือค่าไฟฟ้าผู้มีรายได้น้อย
การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน โดย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า ที่ประชุม ได้มีการพิจารณา การขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคา LPG โดยมีโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการฯ) จาก 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เพิ่มขึ้นอีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ซึ่งเดิมมีกำหนดสิ้นสุดโครงการฯ วันที่ 30 ก.ย. 2565 นั้น ที่ประชุม กบง. ได้มีการติดตามความคืบหน้าของโครงการฯ พบว่า ตั้งแต่เดือนก.ค. – 14 ส.ค. 2565 มีผู้ใช้สิทธิ์จำนวน 3,741,994 ราย อย่างไรก็ดีเนื่องจากราคา LPG ยังคงอยู่ในระดับที่สูง ที่ประชุม กบง. จึงมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีกประมาณ 3 เดือนโดยจะเริ่มประมาณกลางเดือนตุลาคม ถึง ธ.ค. 2565 โดยมอบหมายให้
กรมธุรกิจพลังงานนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาโครงการฯ และจัดทำคำขอรับงบประมาณเพื่อใช้สำหรับดำเนินโครงการฯ เสนอสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
นายกุลิศ เปิดเผยด้วยว่า จากสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยได้รับผลกระทบ กระทรวงพลังงานเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนอย่างเร่งด่วน ควบคู่ไปกับการจูงใจให้ภาคประชาชนมีการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด ที่ประชุม กบง. จึงได้มีการพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และมีมติเห็นชอบแนวทางช่วยเหลือ ดังนี้ (1) กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนก.ย. 2565 – ธ.ค. 2565 (ประกอบด้วยส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนพ.ค. 2565 – ส.ค. 2565 จำนวน 23.38 สตางค์ต่อหน่วย และส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนก.ย. 2565 – ธ.ค. 2565 จำนวน 68.66 สตางค์ต่อหน่วย) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยลดภาระค่าครองชีพของผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากนโยบายของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2565 วันที่ 19 เม.ย. 2565 และวันที่ 10 พ.ค. 2565 (2) กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-500 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่นกัน โดยการให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนก.ย. 2565 – ธ.ค. 2565 แบบขั้นบันได ในอัตรา 15 -75%
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการตามแนวทางช่วยเหลือกลุ่ม (1) และ (2) ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ของ กฟน. และ กฟภ. จะครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 80% ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 89% ของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย นอกจากนี้จะดำเนินการให้ครอบคลุมบ้านที่อยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของ กฟผ. และผู้ใช้ไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณรวม 2,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 8,000 ล้านบาทสำหรับ 4 เดือน พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับสนับสนุนแหล่งงบประมาณในการดำเนินมาตรการดังกล่าวตามความเหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. ได้มีการพิจารณาปรับปรุงกรอบหลักเกณฑ์การคัดเลือกโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) (กลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม) สำหรับปี 2565 – 2573 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบปรับปรุงเงื่อนไข คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามให้ด้านการเป็นโครงการใหม่และการมีสัญญาผูกพันกับภาครัฐ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติและเห็นควรยกเลิกเงื่อนไขในส่วนของเงื่อนไขการเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนในรูปแบบอื่นแล้ว และการมีปัญหาจากการรับซื้อไฟฟ้ารอบที่ผ่านๆ มา เนื่องจากอาจขัดกับหลักการของกฎหมาย ซึ่งจำเป็นต้องใช้ดุลพินิจและอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติได้ นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบให้ กกพ.สามารถพิจารณาปรับเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้ารายปีของแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) เฉพาะกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ได้ตามความเหมาะสม ให้สอดคล้องกับผลคะแนนความพร้อมด้านเทคนิค ข้อเสนอขายไฟฟ้า กำหนด SCOD และศักยภาพระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ ไม่ให้เกินกรอบเป้าหมายรวมของแต่ละประเภทเชื้อเพลิงตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้า