ไทยออยล์ครึ่งปีแรกกำไรทะลุ 2 หมื่นล้านบาท
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2565 เติบโต โดยมีกำไรสุทธิสองหมื่นกว่าล้านบาท อันเป็นผลจากประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซีย ยูเครน และความต้องการใช้น้ำมันในประเทศฟื้นตัว พร้อมบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้น GPSC แต่ยังต้องติดตามราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีความผันผวนสูง พร้อมเร่งเดินหน้าแผนการลงทุนและขยายธุรกิจใหม่เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า “ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2565 ปรับดีขึ้น หลังความต้องการใช้น้ำมันในประเทศฟื้นตัวและค่าการกลั่นที่ปรับสูงขึ้นชั่วคราวจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย ยูเครน ส่งผลให้อุปทานน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดตึงตัว ส่วนครึ่งปีหลังยังต้องติดตามราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีความผันผวนสูง ในขณะที่ค่าการกลั่นเริ่มปรับลดลงสู่ระดับปกติ เนื่องจากอุปสงค์และอุปทานปรับสู่สมดุล ส่งผลให้สต๊อกน้ำมันเบนซินทยอยปรับสู่ระดับปกติ โดยในไตรมาส 2 /2655 มีรายได้จากการขาย 143,892 ล้านบาท ขณะที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ไทยออยล์บันทึกกำไรจากสต๊อกน้ำมัน 7,557 ล้านบาท มีการบันทึกขาดทุนจากการเข้าทำสัญญาบริหารความเสี่ยง 12,626 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 25,327 ล้านบาท ทั้งนี้ ไทยออยล์ได้บันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้นของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในไตรมาส 2 ปี 2565 จำนวน 12,880 ล้านบาท (หลังหักภาษี) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาว เพื่อนำไปชำระเงินกู้ยืมระยะสั้น (Birding Loan) สำหรับการเข้าลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีที่ประเทศอินโดนีเซีย”
นายวิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ภาพรวมธุรกิจการกลั่นในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความไม่แน่นอนสูง จากความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดังนั้น จึงต้องติดตามสถานการณ์และราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ ไทยออยล์เร่งเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจตามแผนการลงทุนที่วางไว้ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการต่อยอดไปยังธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ได้แก่ การลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) และ การลงทุนในธุรกิจโอเลฟินที่ประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งขยายตลาดและกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค และ แสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ (New S-Curve) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต เพื่อลดความผันผวนจากอุตสาหกรรมพลังงาน และนำไปสู่เป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืน”