กพช.ไฟเขียวลดเก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน
กพช. เห็นชอบลดเงินส่งเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน 0.05 บาทต่อลิตร ทบทวน
แผนรองรับวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง และขยายกรอบการรับซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาว
เมื่อ 5 พ.ย.64 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน โดยปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันดีเซลหมุนช้า และน้ำมันเตา ในอัตรา 0.005 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี และอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร ระยะเวลา 2 ปี มีผลทันทีหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา
อีกทั้งยังเห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2567 ปีละ 4,000 ล้านบาท และให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และการจัดสรรเงินตามแผนและกลุ่มงานต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสมภายในวงเงินรวม 12,000 ล้านบาท
และยังเห็นชอบให้ทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563 – 2567 เพื่อรับรองกรณีมีการเปลี่ยนแปลงวงเงินกู้ โดยให้การบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้ต้องไม่เกิน จำนวน 40,000 ล้านบาท ตามมาตรา 26 แห่ง พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 การใช้จ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้จ่ายได้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานกองทุนน้ำมันฯ หรือการบริหารกองทุนน้ำมันฯ และกิจการอื่นที่เกี่ยวกับ หรือเกี่ยวเนื่องกับการจัดการกิจการของกองทุนน้ำมันฯ การทบทวนแผนรองรับวิกฤตฯ ครั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
และให้ ทบทวนราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Price Review) จากสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาว บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท PETRONAS LNG LTD., เนื่องจากสถานการณ์ตลาด LNG ในปัจจุบันมีแนวโน้มตึงตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับเงื่อนไขสัญญาระหว่าง บริษัท ปตท. และ PETRONAS นั้นก็ให้คู่สัญญาเปิดเจรจา Price Review ได้ในระหว่างปีที่ 5 ของสัญญา ปตท. จึงขอเจรจาในปี 2564 เพื่อปรับลดราคา LNG โดยได้ข้อสรุปผลการเจรจา LNG Price Review สามารถปรับลดสูตรราคา LNG SPA ลงเฉลี่ย -7% ซึ่งสามารถลดต้นทุนการจัดหา LNG ลงประมาณ 900 – 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือรวมประมาณ 4,500 – 5,000 ล้านบาทในปี 2565 – 2569 หรือลดต้นทุนค่า Ft ประมาณ 0.42 สตางค์ ต่อหน่วย และกพช.มอบหมายให้บริษัท ปตท.ฯ เสนอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาต่อไป
และเห็นชอบให้บรรจุโครงการ LNG Terminal พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 [T-3] ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จ.ระยอง ซึ่งมีกำลังการแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซ 10.8 ล้านตัน ต่อปี (ขยายได้ถึง 16 ล้านตันต่อปี) ไว้ในแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคงของประเทศ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการฯ ตามแผนดำเนินงานของ EEC และสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ตลอดจนดำเนินการกำกับดูแลและบริหารจัดการ LNG Terminal ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการจัดหา LNG ของประเทศให้มีการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพและมีความมั่นคง เหมาะสมและเป็นธรรมต่อทั้งผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ และผู้ใช้พลังงาน ทั้งรายเก่าและรายใหม่ รวมถึงการสร้างระบบเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส ทันสถานการณ์ และสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน
นอกจากนั้นยังเห็นชอบอัตรา ค่าไฟฟ้าและการขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป. ลาว ดังนี้ โครงการน้ำงึม 3 ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.8934 บาทต่อหน่วย โครงการปากแบง ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.7935 บาทต่อหน่วย โครงการปากลาย ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.9426 บาทต่อหน่วย โดยอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะคงที่ตลอดสัญญาและมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในร่าง Tariff MOU โครงการน้ำงึม 3 โครงการปากแบง และโครงการปากลาย ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด แล้ว เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า
และให้ขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและ สปป. ลาว เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้า ใน สปป. ลาว จาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์ ทั้งนี้การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังน้ำจาก สปป. ลาว นั้น สอดคล้องตามกรอบ “แผนพลังงานชาติ” ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ และสอดคล้องทิศทางพลังงานโลก ที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาด ลดการปล่อย CO2 อีกด้วย
นอกจากนี้ กพช. ได้เห็นชอบหลักการในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT ปี 2565 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.08 บาทต่อหน่วย (FiT Premium 8 ปี 0.70 บาท/หน่วย) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 – 50 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 3.66 บาทต่อหน่วย และระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี โดยมอบหมายให้ กกพ. พิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงต้นทุนการดำเนินการแต่ละโครงการต้นทุนการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ เพื่อใช้เป็นอัตราในการประกาศรับซื้อไฟฟ้าต่อไป
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กพช. ยังได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 5 ฉบับ (5 ผลิตภัณฑ์) ดังนี้ 1. ร่างกฎกระทรวงความร้อนแบบดึงความร้อนจากอากาศถ่ายเทให้แก่น้ำที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. … 2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดฟิล์มติดกระจกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. … 3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดฉนวนอุตสาหกรรมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ….. 4. ร่างกฎกระทรวงกำหนดเตารังสีอินฟราเรดที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. … และ 5. ร่างกฎกระทรวงกำหนดพัดลมอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. … และมอบหมายให้กระทรวงพลังงานนำร่างกฎกระทรวงฯ เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
…………………………………