“กุลิศ” พูดชัด ใช้เงินเท่าไหร่ ตรึง ดีเซล 25 บาท/ลิตร
ปลัดพลังงาน ระบุ เงินกู้ 2 หมื่นล้านบาท ไม่พอตรึงดีเซล 25 บาทต่อลิตร เสนอ กพช. ลดเก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯเหลือ 5 ส.ต. ลดผลกระทบน้ำมันแพง
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานเสวนา เรื่อง “เจาะลึกราคาน้ำมันไทย แพงจริงหรือ”จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ข้อเสนอให้ตรึงดีเซล 25 บาทต่อลิตรนั้น หากพิจารณาจากราคาขายปลีกดีเซลปัจจุบันอยู่ราว 32-34 บาทต่อลิตรซึ่งทุก 2 บาทต่อลิตรกองทุนน้ำมันฯต้องอุดหนุนถึง 3,000 ล้านบาท หากตรึงราคาดังกล่าวการกู้เงินอีก 2 หมื่นล้านบาทก็คงจะไม่เพียงพอ และหากพิจารณาย้อนหลังที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลก็จะตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ส่วนการลดภาษีสรรพสามิตนั้นเป็นอำนาจของกระทรวงคลัง
สำหรับแผนการกู้เงิน หลังจากคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.)เห็นชอบ ร่างหลักเกณฑ์การกู้เงินภายใต้กรอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเสริมสภาพคล่องในการตรึงดีเซลไม่เกิน30 บาทต่อลิตรวงเงิน 20,000 ล้านบาท นั้น จะเน้นกู้เงินจากสถาบันการเงินภายในประเทศเป็นหลัก คาดว่าเงินกู้จะเข้ามาได้ในช่วงกลางม.ค.-ก.พ.65 และจะสามารถดูแลดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรถึงเมษายน 2565 ในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 90 เหรียญฯต่อบาร์เรลหรือราคาขายปลีกดีเซลที่จะขึ้นไปสู่ 34-35 บาทต่อลิตร
อย่างไรก็ดี ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) วันที่ 5 พ.ย.นี้ กระทรวงฯยังจะเสนอปรับลดอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจากที่เก็บปัจจุบัน 10 สตางค์ต่อลิตรเหลือ 5 สตางค์ต่อลิตร เป็นช่วงเวลา 1-2 ปี เพื่อบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันแพง หากสถานการณ์ราคากลับมาปกติก็อาจกลับมาพิจารณาจัดเก็บเหมือนเดิม
“การตรึงราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ไว้ที่ 318 บาทต่อถัง(15กก.) จะมีการพิจารณาขยายการตรึงไปถึง ม.ค. 65 ซึ่งจะต้องใช้เงินเพิ่มประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท จากปัจจุบันเงินดังกล่าวได้ถูกแยกบัญชีมาเป็นบัญชีLPG ซึ่งติดลบแล้วกว่า 1.88 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจะขอ ครม.อนุมัติกู้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทจากกระทรวงการคลัง เพราะเข้าข่ายการช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งแยกออกไปจากกองทุน เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯที่เหลือใช้ตรึงราคาดีเซลเพียงอย่างเดียว หากเงิน 2 หมื่นล้านบาทหมดจะกู้อีกต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาขยายวงเงินกู้ต่อไป” นายกุลิศ กล่าว