นักวิชาการ เสนอ ลดภาษีสรรพสามิต 2 บาท บรรเทาน้ำมันแพง
นักวิชาการ เสนอ ลดภาษีสรรพสามิต 1-2 บาทต่อลิตร ลดผลกระทบราคาน้ำมันแพง คาด ราคาน้ำมันโลกปี 65 มีโอกาสขยับขึ้นไปถึง 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนา เรื่อง “เจาะลึกราคาน้ำมันไทย แพงจริงหรือ” ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มตึงตัวอยู่ในระดับสูง จากหลายปัจจัย ไม่ว่า จะเป็นกา รฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังสถานการณ์โควิด , กำลังการผลิตน้ำมันดิบ , การเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว , หรือ การเปิดประเทศให้มีการเดินทางท่องเที่ยว โดยประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จนถึงไตรมาส 1ปี 2565 จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 80-90 เหรียญสหรัฐ / บาร์เรล และมีสิทธิจะมีการขยับขึ้นไปถึง 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ได้กรณีปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นมีแนวโน้มที่ขยับไปในทางที่ดีขึ้น
ด้าน ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราคาน้ำมันขายปลีกในไทย ปรับขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ เข้าไปช่วยพยุงราคามาอย่างต่อเนื่อง และนอกจากราคาน้ำมันขายปลีกในไทย จะขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันในตลาดโลกแล้ว โครงสร้างราคาน้ำมันของไทย ยังส่งผลสำคัญต่อราคา โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีต่างๆ และการปรับเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล ที่ปัจจุบันมีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งหากยกเว้นการจับเก็บภาษีและไม่มีการผสมไบโอดีเซลเลย จะช่วยลดราคาน้ำมันลงได้ประมาณ 10 บาทต่อลิตร แต่มันคงไม่สามารถทำได้
อย่างไรก็ดี ควรปรับลดภาษีสรรพสามิตลง 2 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ 5.99 บาทต่อลิตร รวมทั้ง ปรับลดการผสมไบโอดีเซลลงเหลือ 5% จากที่กำหนดไว้ 7-10% เพื่อช่วยลดภาระของการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ
“ผมเข้าใจว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กระทรวงการคลังเก็บภาษีได้ไม่เข้าเป้า โดยเฉพาะ ภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้ารัฐบาลยังมีนโยบายพยุงราคาน้ำมันต่อไป แล้วกองทุนน้ำมันฯ เงินหมด ก็ควรจะช่วยกัน ด้วยการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงบ้าง” ดร.คุรุจิต กล่าว
เช่นเดียวกับ ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ บอกว่า ต้นทุนการขนส่งขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน รถบรรทุกค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งเป็นค่าน้ำมัน เพราะฉะนั้น ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา 20-30% แสดงว่าต้นทุนในการขนส่งเพิ่มขึ้น 10-15%
“การลดภาษีสรรพสามิตจะเห็นได้ชัดเจน หากลดราคาน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท ซึ่งปัจจุบันใช้น้ำมันดีเซลวันละ 60 ล้านลิตร เงินภาษีของรัฐจะหายไปเดือนละประมาณ 10,000 ล้านบาท ปีละ 120,000 ล้านบาท คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้สรรพสามิตจากน้ำมันแต่เห็นว่ามากเกินไป ดังนั้น หากจะลดลิตรละ 1-2 บาทคงน่าจะสมควรมากกว่า” ศ.ดร.พรายพล กล่าว