ดองเค็ม โครงการกำจัดขยะ อ่อนนุช-หนองแขม
กทม.ปรับแผนจัดการขยะ ยืดเวลาฝังกลบ เหตุโครงการกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าอ่อนนุช-หนองแขม ล่าช้า
นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรณีที่โครงการนำขยะผลิตไฟฟ้า ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช และหนองแขม ขนาด 1,000 ตัน/วัน/แห่ง ผลิตไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์ต่อโรง ไม่สามารถเดินหน้าได้มากว่า 2 ปี เนื่องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังไม่ออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้า และประกาศรับซื้อไฟฟ้ามารองรับตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) 31 พฤษภาคม 2560 และกกพ.ยังมีแนวทางจะทบทวนโครงการฯใหม่ด้วย โดยเฉพาะอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะของ 2 โครงการ ที่กำหนดไว้อัตรา 3.66 บาทต่อหน่วยบวกอัตราเงินเฟ้อ
ส่งผลให้กทม.ต้องปรับแผนการจัดการขยะใหม่ทั้งหมด โดยต้องเลื่อนแนวทางลดสัดส่วนการฝังกลบให้เหลือ 30% ออกไปกว่า 3 ปี จนกว่าโครงการฯที่อ่อนนุช และหนองแขมจะเกิดขึ้นได้ และต้องจัดงบประมาณใหม่ในการจ้างเอกชนขนส่ง และฝังกลบ ซึ่งเป็นงบประมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะเดียวกันแผนการนำขยะมาผลิตไฟฟ้าที่สายไหม ซึ่งเตรียมของบประมาณก็ถูกชะลอออกไปเช่นเดียวกัน ส่วนภาคเอกชนผู้ดำเนินโครงการ ทราบว่ากำลังเดินหน้าเรียกร้องความเสียหาย
ดังนั้นจึงเห็นว่ากกพ.ควรเร่งออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้า เพื่อให้ 2 โครงการเดินหน้าได้ หากจะมีการทบทวนแผนหรือเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ใดๆก็ตาม ควรดำเนินการกับโครงการอื่นๆที่เกิดขึ้นภายหลัง เพื่อความยุติธรรมกับทุกๆฝ่าย ทั้งภาคเอกชนที่ผ่านกระบวนการประกวดราคามาแล้ว และหลีกเลี่ยงการที่หน่วยงานรัฐจะถูกฟ้องร้องในภายหลังด้วย
ด้านนายเหอ หนิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความล่าช้าของการพิจารณารับซื้อไฟฟ้า ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการของกลุ่มบริษัท โดยปัจจุบันราคานำเข้าเหล็กสำหรับก่อสร้างโครงการได้ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 10% ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จึงขอให้กระทรวงพลังงานและ กพช.เร่งประกาศอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ตามแผนที่วางไว้
“การเปลี่ยนแปลงนโยบายการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าในโครงการที่ผ่านความเห็นชอบมาแล้ว แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของภาครัฐในการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ขัดกับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ไทย และอาจส่งผลต่อการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในอนาคต โดยยืนยันว่าหากโครงการเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ได้ จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 ช่วยกำจัดขยะให้กรุงเทพมหานครได้รวมถึง 2,500 ตัน/วัน”