กมธ.การพลังงาน สภาฯ ร่วมจังหวัดลำปาง เร่งหาทางออกปัญหาแม่เมาะ
กมธ.การพลังงาน สภาฯ ร่วมจังหวัดลำปาง เร่งหาทางออกปัญหาแม่เมาะ
อพยพชาวบ้านพ้นเหมืองแม่เมาะ ครั้งที่ 7 ตามมติ ครม. 15 ต.ค. 2556 เริ่มแล้วหลังชาวบ้านรอมานานกว่า 7 ปี “กิตติกร” นำ กมธ.การพลังงาน ลงพื้นที่ “ถก” กับจังหวัดลำปาง สางปัญหาแม่เมาะ “ณรงค์ศักดิ์” พ่อเมืองลำปางรับลูกก่อนย้ายรับตำแหน่งใหม่ ให้ราษฎรชุดแรก 963 ครัวเรือนจับฉลากพื้นที่รองรับ ตามมติ ครม. ด้าน กฟผ. เตรียมงบ 2,138 ล้านบาทรองรับค่ารื้นย้ายบ้านพักอาศัย ค่าชดเชยที่ดิน และต้นไม้ ด้านค่าก่อสร้างสาธารณูปโภครองใช้งบ 832.5 ล้าน
นายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร นายธารา ปิตุเตชะ รองประธานกรรมาธิการฯ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับจังหวัดลำปาง โดยนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ในการแก้ไขปัญหาการอพยพชาวบ้านในพื้นที่เหมืองแม่เมาะครั้งที่ 7 ตามมติ ครม. 15 ต.ค.2556 ที่มีความล่าช้ากว่า 7 ปี
ปัญหาการอพยพประชาชน ในเขตพื้นที่เหมืองแม่เมาะ ที่ผ่านการอพยพราษฎรที่ประสบปัญหาตั้งแต่ปี 2521 – 2549 กฟผ. ได้มีการอพยพราษฎรทั้งหมด 6 ครั้ง รวม 3,195 ครัวเรือน ครั้งที่ 1-4 เป็นการอพยพ จากการใช้พื้นที่สำหรับการขยายเหมือง และการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. ครั้งที่ 5-6 เป็นการอพยพตามความสมัครใจของราษฎร
ในการอพยพครั้งที่ 7 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 56 นั้น ครม. มีมติเห็นชอบให้อพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านห้วยคิง ต.แม่เมาะ และ 4 หมู่บ้าน ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง รวมราษฎร 1,458 ครัวเรือน โดยให้ กฟผ. รับผิดชอบด้านงบประมาณจำนวน 2,970.5 ล้านบาท ค่ารื้อย้ายบ้านพักอาศัย / ค่าชดเชยที่ดิน ต้นไม้ 2,138 ล้านบาท ค่าก่อสร้างที่จัดสรรและสาธารณูปโภคในพื้นที่รองรับการอพยพราษฎร 2 พื้นที่ 832.5 ล้านบาท ตามมติ ครม. 15 ต.ค. 2556
มติ ครม. 15 ต.ค.2556 นั้น มีสาระสำคัญ โดยให้กระทรวงพลังงานแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้อง การจ่ายค่ารื้อย้าย/ชดเชย ให้ใช้ราคาตามมาตรฐานของกรมชลประทาน ใช้งบประมาณ กฟผ. และให้ทำการก่อสร้างสาธารณูปโภคสาธารณูปการในพื้นที่รองรับการอพยพของราษฎร โดยจัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละไม่เกิน 1 ไร่ ตาที่ กรมป่าไม้อนุญาตให้ใช้ประโยชน์เป็นกรณีพิเศษ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการให้บริการระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการพื้นฐาน เพื่อป้องกันการย้ายกลับพื้นที่เดิม ส่วนราษฎรที่ไม่ต้องย้ายให้ กฟผ.จัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกับราษฎรผู้ไม่อพยพ
สำหรับความคืบหน้าการอพยพราษฎรตามมติ ครม. 15 ตุลาคม 2556 นั้น อำเภอแม่เมาะส่งหนังสือไปยังกรมการปกครองเพื่อหารือแนวทางการจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ เพื่อกรมการปกครองจะได้แจ้งแนวทางการตั้งหมู่บ้านเป็นกรณีพิเศษมายังจังหวัดให้ดำเนินการ และกรมการปกครอง มีหนังสือที่ มท 0310.1/15219 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2564 เรื่องหารือแนวทางการจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 เรียนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง โดยแจ้งให้จังหวัดดำเนินการตามหนังสือกรมการปกครองที่ มท 0310.1/ว 56 ลงวันที่ 2 มกราคม 2557
เรื่องแนวทางการปฏิบัติการจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ และการขอเปลี่ยนแปลงชื่อหมู่บ้าน โดยให้รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง จัดส่งให้กรมการปกครองเพื่อดำเนินการ ซึ่งจังหวัดลำปางได้มีหนังสือที่ ลป 018.1/15826 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2564 แจ้งให้อำเภอแม่เมาะดำเนินการต่อไป โดยมอบหมายให้ที่ทำการปกครองจังหวัดลำปาง ดำเนินการ
ด้านปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานการอพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน ตามมติ ครม. ที่มีความล่ามานานกว่า 7 ปีนั้น มีปัญหาเกิดขึ้นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องการอนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนสำหรับเป็นพื้นที่รองรับการอพยพ ผู้รับจ้างงานสำรวจที่ดินทรัพย์สินที่ใช้รองรับการอพยพ ทิ้งงาน และมีการร้องอุทธรณ์ของผู้เสนอราคางานก่อสร้างตาม พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ทั้งยังติดขัดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 พร้อมทั้งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อพยพนำแปลงที่ดินที่เคยอพยพแล้วนำกลับมายื่นใหม่ และยังมีการขายที่ดินให้ราษฎรรายใหม่ปลูกบ้านอยู่อาศัย รวมถึงราษฎรบางรายเปลี่ยนใจไม่อพยพ
ด้านปัญหาราษฎรจำนวน 63 ราย ครอบครองพื้นที่รองรับการอพยพบ้านห้วยคิง หมู่ที่ 6 ต.แม่เมาะ
นั้น ครม.ได้มี มติไปเมื่อ วันที่ 30 เมษายน 2562 มอบหมายให้ กระทรวงพลังงาน (กฟผ.) จ่ายค่าชดเชยเยียวยาที่ดิน ต้นไม้และสิ่งปลูกสร้างแก่ราษฎรผู้ครอบครองพื้นที่รองรับการอพยพบ้านห้วยคิง จำนวน 63 ราย และให้ออกจากพื้นที่ ซึ่งในเรื่องนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการ
จากปัญหาอุปสรรค์ที่เกิดขึ้นในการอพยพราษฎร นั้น ทางจังหวัดลำปางได้ดำเนินการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับราษฎร 4 หมู่บ้านที่จะทำการอพยพ และคณะกรรมการได้ทำการตรวจสอบ เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ทางจังหวัดได้ทำการประกาศผู้มีสิทธิ์ได้รับแปลงที่จัดสรร จำนวน 963 ครอบครัว โดยจะทำการจับฉลากในวันที่ 20–21 กันยายน 2564 ที่ทำการ อบต.บ้านดง
นายชูศักดิ์ วงศ์สวัสดิ์ อดีตนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการการพลังงาน ให้ความเห็นเรื่องการอพยพในครั้งนี้ว่า ประเด็นปัญหาจะเกิดขึ้นตามมา ถ้าไม่เข้าไปกำกับดูแลตั้งแต่ต้น จะทำให้มีความเสียหายต่อสาธารณูปโภค ในกรณีของราษฎร 63 รายที่มีการครอบครองพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้สำหรับการอพยพบ้านห้วยคิงนั้น จากการตรวจสอบมติ ครม. เมื่อปี 56 และปี 62 ได้กำหนดให้ กระทรวงพลังงานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้พิจารณาแนวทางและวิธีการจ่ายเงินค่าชดเชยเพื่อการเยียวยาให้กับราษฎรโดยให้นำข้อสังเกตของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงเกษตรมาประกอบการพิจารณาด้วยนั้น
ในกรณีที่กลุ่มราษฎรดังกล่าวเคยได้รับเงินค่าทดแทนไปแล้วนั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันกระทรวงพลังงานยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการจ่ายเงินค่าชดเชยเยียวยาซึ่งต้องคำนึงถึงความสุจริต ยุติธรรม ความได้สัดส่วนจองเงินชดเชยเยียวยาความเสียหายที่ได้รับ กรณีนี้ควรที่กระทรวงพลังงานต้องหาทางแก้ไขโดยเร็วหากพบปัญหาอุปสรรคที่มีประเด็นที่กระทรวงไม่วามารถพิจารณาได้ ก็ควรเสนอข้อเท็จจริงให้ ครม. พิจารณา ทั้งนี้แนวทางการเยียวยาจะต้องเป็นการบรรเทาความเสียหายเท่านั้นไม่ควรให้หรือได้รับผลประโยชน์จากกรณีเข้าครอบครองที่ดินเนื่องจาก ในอนาคตจะเกิดปัญหาการบุกรุกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อไปในอนาคตได้ ดังนั้นควรช่วยเหลือในลักษณะของมนุษยธรรมคือเสียหายเท่าไหร่หากพิสูจน์ได้ก็ควรจ่ายให้เท่านั้น โดยคำนึงถึงความได้สัดส่วนของเงินเยียวยากับความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากราษฎรดังกล่าวเคยได้รับเงินค่าทดแทนจากภาครัฐมาก่อนแล้ว ควรนำเจตนาของผู้ครอบครองที่ดินมาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้เพื่อสามารถให้คำตอบกับสังคมได้ เนื่องจากเงินที่ใช้จ่ายเป็นเงินของแผ่นดิน