การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 7 เดือน ลดลง 3 %
ธพ. เผย การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 7 เดือนปีนี้ลดลง ร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุมาจากการใช้น้ำมัน Jet A1 ลดลงร้อยละ 50.3
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวถึงภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันรอบ 7 เดือนของปี 2564 (มกราคม-กรกฎาคม) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.0 โดยสาเหตุสำคัญมาจากการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ที่ลดลงร้อยละ 50.3 และการใช้กลุ่มเบนซินที่ลดลงร้อยละ 4.2 สำหรับการใช้กลุ่มดีเซลลดลงร้อยละ 3.4 น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 น้ำมันก๊าดเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 และ NGV ลดลงร้อยละ 15.8
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.11 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง ร้อยละ 4.2) เมื่อพิจารณาปริมาณการใช้กลุ่มแก๊สโซฮอล์พบว่าลดลงมาอยู่ที่ 28.43 ล้านลิตร/วัน (ลดลง ร้อยละ 3.9) อย่างไรก็ตาม การใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 14.87 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.8) ในขณะที่การใช้น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ อี20 แก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 0.69 ล้านลิตร/วัน 7.01 ล้านลิตร/วัน 5.81 ล้านลิตร/วัน และ 0.74 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการใช้กลุ่มเบนซินเฉพาะเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่า การใช้ลดลงมาอยู่ที่ 25.55 ล้านลิตร/วัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (เดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ 29.24 ล้านลิตร/วัน) (ลดลง ร้อยละ 12.6) โดยเป็นการลดลงของทุกชนิดน้ำมัน เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยในช่วงต้นเดือนมีการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,000-6,000 ราย/วัน และในช่วงปลายเดือนจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 17,000 ราย/วัน ส่งผลให้ภาครัฐต้องยกระดับมาตรการ Lockdown และขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 20 กรกฎาคม 2564
การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 63.22 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง ร้อยละ 3.4) สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 36.91 ล้านลิตร/วัน (ลดลง ร้อยละ 19.9) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 23.16 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 1.06 ล้านลิตร/วัน
การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเฉพาะเดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ 53.62 ล้านลิตร/วัน ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2563 (ลดลง ร้อยละ 17.0) เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับการงดให้บริการเดินรถโดยสารสาธารณะและการขนส่งสินค้าเข้า-ออก พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตั้งแต่ 21 กรกฎาคม 2564
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.48 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง ร้อยละ 50.3) เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้น และศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ยกระดับมาตรการควบคุมพื้นที่ ส่งผลให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยออกประกาศห้าม สายการบินทำการบินรับส่งผู้โดยสาร เข้าหรือออกพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตั้งแต่ 21 กรกฎาคม 2564
การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 16.61 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.3) เนื่องจากการใช้ ในภาคปิโตรเคมีที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.42 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.4) และการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.84 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.5) สำหรับภาคครัวเรือนมีการใช้อยู่ที่ 5.62 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.8) อย่างไรก็ตาม การใช้ในภาคขนส่งลดลงมาอยู่ที่ 1.72 ล้านกก./วัน (ลดลง ร้อยละ 15.2)
การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.21 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง ร้อยละ 15.8) โดยเป็นผลต่อเนื่องจาก การแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับจำนวนสถานีบริการและรถ NGV ที่ลดลง
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 900,713 บาร์เรล/วัน ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง ร้อยละ 1.9) โดยการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงมาอยู่ที่ 862,264 บาร์เรล/วัน (ลดลง ร้อยละ 2.7) อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 53,306 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 34.5) เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 38,449 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.3) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 2,362 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 62.7)
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2564 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ไบโอดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกลดลงมาอยู่ที่ 183,752 บาร์เรล/วัน (ลดลง ร้อยละ 7.0) คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 12,120 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.3)