ไทยออยล์ คาด ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ ชะลอตัวลง
ไทยออยล์ คาด ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ ชะลอตัวลง หลังซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ส่งสัญญาณข้อตกลงเบื้องต้นในการปรับเพิ่มระดับการผลิตน้ำมันดิบอ้างอิง
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ คาดการณ์ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้ ( 19 – 23 ก.ค. 64) จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 69-74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 71-76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ถูกกดดัน หลังตลาดคลายความกังวลเรื่องอุปทานตึงตัว เนื่องจากซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เจรจาข้อตกลงเบื้องต้นในการปรับเพิ่มระดับการผลิตน้ำมันดิบอ้างอิง (baseline production) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
รวมทั้ง จำนวนที่ปรับเพิ่มขึ้นของแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ และกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ นอกจากนี้ ตลาดยังคงกังวลต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชีย หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงปรับเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันยังคงผันผวนและได้รับแรงหนุน หลังสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมันทั่วโลกมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นตลอดช่วงระยะเวลา เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค COVID-19 และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ดีขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
-ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังตลาดคลายความกังวลเรื่องอุปทานตึงตัว แม้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบและประเทศพันธมิตรหรือโอเปกพลัสยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องการปรับระดับกำลังการผลิตจากการประชุมที่ยืดเยื้อในช่วงวันที่ 1 – 2 ก.ค. และต่อเนื่องในวันที่ 5 ก.ค. 64
แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา มีรายงานว่าทางซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สามารถเจรจาข้อตกลงเบื้องต้นในการปรับเพิ่มระดับการผลิตน้ำมันดิบอ้างอิง (baseline production) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จากระดับ 3.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับราว 3.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยข้อตกลงใหม่จะมีผลในเดือน เม.ย. 65
อย่างไรก็ตาม ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังไม่มีการนัดวันประชุมกับสมาชิกชาติอื่นในกลุ่มโอเปกพลัสเพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มอย่างเป็นทางการ
-อุปทานน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังบริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์ รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ รายสัปดาห์ ณ วันที่ 9 ก.ค. 64 ปรับเพิ่มขึ้น 2 แท่น ไปอยู่ที่ระดับ 378 แท่น ประกอบกับ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 9 ก.ค. 64 ปรับเพิ่มขึ้น ไปอยู่ที่ระดับ 11.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 63
-ตลาดยังคงกังวลต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชีย หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงปรับเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ โดยกรุงโตเกียวได้กลับมาดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดก่อนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ด้านอินโดนีเซียประกาศขยายพื้นที่ล็อกดาวน์ ส่วนมาเลเซีย ไทยและเกาหลีใต้ได้มีการประกาศมาตรการเข้มงวดทางสังคมเพื่อลดการแพร่ระบาด ขณะที่ออสเตรเลียได้ประกาศขยายเวลาล็อกดาวน์ในเมืองซิดนีย์อีก 14 วัน หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นแม้ว่าจะมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ระดับสูงสุดแล้วก็ตาม
-รายงานฉบับเดือน ก.ค. 64 ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 64 จะเพิ่มขึ้นราว 5.39 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 63 แตะระดับ 96.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 60,000 บาร์เรลต่อวัน จากรายงานฉบับเดือน มิ.ย. 64 โดยความต้องการน้ำมันทั่วโลกมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นตลอดช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค COVID-19 และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ดีขึ้น
-อุปสงค์น้ำมันสหรัฐฯมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่มีทิศทางฟื้นตัว โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าเฟดจะเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และจะยังไม่เร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในระยะนี้เกิดจากปัจจัยชั่วคราวจากการที่รัฐต่างๆทำการเปิดเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำว่าเฟดจะใช้นโยบายการเงินในการสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์
-เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางจีน แถลงการณ์นโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตสหรัฐฯ เดือน ก.ค. 64