GULF กำไร ไตรมาส1เพิ่มขึ้น 158%
GULF เผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2564 มีกำไรจากการดำเนินงาน 2,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,465 ล้านบาท หรือคิดเป็น 158% จากไตรมาส 1 ปี 2563 สาเหตุหลักมาจากรับรู้รายได้เงินปันผลจาก INTUCH
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2564 โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) 2,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,465 ล้านบาท หรือคิดเป็น 158% จากไตรมาส 1 ปี 2563
โดยสาเหตุหลักมาจากรับรู้รายได้เงินปันผลจาก INTUCH จำนวน 683 ล้านบาท, รับรู้ผลกำไรของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล Borkum Riffgrund 2 (BKR2) ในประเทศเยอรมนี จำนวน 400 ล้านบาทตามสัดส่วนการถือหุ้น 50%, รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัท ปตท. จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด (PTT NGD) จำนวน 52 ล้านบาท จากการที่ GULF เข้าไปลงทุนในสัดส่วน 40% ในเดือนธันวาคม 2563 และกำไรที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มโรงไฟฟ้า 12 SPP ภายใต้กลุ่ม GMP เนื่องจากปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ยังรับรู้กำไรเต็มไตรมาสของโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลกัลฟ์ จะนะ กรีน (GCG) เทียบกับปีก่อนที่รับรู้เพียง 1 เดือน นับจากวันเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 1 มีนาคม 2563
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2563 Core Profit ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น 1,150 ล้านบาท หรือคิดเป็น 93% เนื่องมาจากรับรู้รายได้เงินปันผลจาก INTUCH และกำไรที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มโรงไฟฟ้า 7 SPP ภายใต้กลุ่ม GJP เนื่องจากในไตรมาส 1 ปี 2564 ปริมาณการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม วัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ และบรรจุภัณฑ์
ในไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้รวม (Total Revenue) 9,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% จาก 7,639 ล้านบาทใน ไตรมาส 1 ปี 2563 จากการรับรู้รายได้ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล BKR2 ที่เยอรมนี จำนวน 1,629 ล้านบาท และรายได้เงินปันผลจาก INTUCH จำนวน 683 ล้านบาท
อัตรากำไรขั้นต้นจากการขาย (Gross Profit Margin) ในไตรมาส 1 ปี 2564 เท่ากับ 33% เพิ่มขึ้นจาก 24% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมมีต้นทุนที่ต่ำกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติอย่างมีสาระสำคัญ ในขณะที่อัตรากำไร (EBITDA margin) เท่ากับ 51.7% เพิ่มขึ้นจาก 37.7%
บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ (Net Profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ ซึ่งรวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน เท่ากับ 1,632 ล้านบาท เทียบกับผลขาดทุนสุทธิ 413 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2563 สาเหตุหลักมาจากการบันทึกผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงที่ลดลงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Unrealized Loss) ของการแปลงค่าเงินกู้ยืมสกุลดอลลาร์สหรัฐ โดยรายการดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลประกอบการของบริษัทฯ แต่อย่างใด