พน.เคลียร์ปม โซลาร์เซลล์ กอ.รมน.
ก.พลังงาน ลงพื้นที่แม่ฮ่องสอน ถกปัญหาโครงการระบบสูบน้ำพลังงานพลังงานแสงอาทิตย์ กอ รมน. ภาค 3 ย้ำ ทุกโครงการประชาชนต้องได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน ประธานคณะทำงานกำกับติดตามผลการดำเนินโครงการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนครั้งนี้ เป็นการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาในส่วนโครงการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 3 หรือ กอ.รมน.ภาค 3 ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ผ่านกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. ปี 2560 เพื่อติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบกรองน้ำสำหรับอุปโภคขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 10 กิโลวัตต์ และระบบกรองน้ำสำหรับบริโภคขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2 กิโลวัตต์ ในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง และอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และพื้นที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก จำนวนรวม 20 แห่ง
ทั้งนี้ ภายหลังจากการดำเนินโครงการของ กอ.รมน.ภาค 3 แล้วเสร็จ ทาง พพ. ได้ดำเนินการตรวจสอบและประเมินผลโครงการฯ ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2561-เดือนมิถุนายน 2562 จำนวน 3 ครั้ง พบว่าทั้ง 20 แห่ง สามารถใช้งานได้ตามปกติ และอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการรับประกันของผู้รับจ้าง
แต่หลังจากหมดช่วงรับประกัน (กันยายน 2563) ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้งในช่วงกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา พบว่าแต่ละแห่งประสบปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการใช้งานของระบบฯ ตามสภาพการใช้งานที่บางแห่งระบบกรองน้ำอุปโภคใช้ได้หรือบางแห่งระบบกรองน้ำบริโภคใช้ได้
ซึ่งขณะนี้ ได้มีการแก้ไขให้สามารถใช้งานได้ทั้ง 2 ระบบแล้วทั้ง 18 แห่ง และอยู่ระหว่างการเร่งแก้ไขอีก 2 แห่ง ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากนั้นจะมีการส่งมอบให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ของโครงการต่อไป โดยเจ้าของโครงการจะร่วมกับผู้รับจ้างและผู้เกี่ยวข้องจะดำเนินการฝึกอบรมการใช้งาน การดูแลบำรุงรักษาให้แก่ อบต.ผู้นำชุมชน และผู้ใช้งาน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการและใช้งานระบบฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยั่งยืน
นอกจากนั้นคณะทำงานฯ จะดำเนินการติดตามตรวจสอบโครงการทั้งหมดอีกกว่า 788 โครงการทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจว่างบประมาณจากกองทุนดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ส่วนโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น การพิจารณาอนุมัติงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจะมีความเข้มงวดมากขึ้น โดยจะมีการตรวจสอบตั้งแต่คำขอโครงการที่จะต้องมีรายละเอียดงบประมาณ แผนงานการดำเนินงานและมีแผนงบประมาณการซ่อมบำรุงที่ชัดเจน คำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ มีความคุ้มค่า ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย