ราคาน้ำมันดิบทรงตัว หลังโอเปกไม่เพิ่มการผลิต
ไทยออยล์ ชี้ สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ระว่าง 11-15 ม.ค. 64 ทรงตัว หลัง ประชุมกลุ่มโอเปกพลัสที่กลุ่มตัดสินใจไม่ปรับเพิ่มการผลิตไปอีก 2 เดือน
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) รายงานแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ระว่าง 11-15 ม.ค. 64 โดยระบุว่าราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ตอบรับผลการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสที่กลุ่มตัดสินใจไม่ปรับเพิ่มการผลิตไปอีก 2 เดือน
ขณะที่ซาอุดิอาระเบียอาสาปรับลดการผลิตลงอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันยังคงมีความเสี่ยงจากเชื้อกลายพันธุ์โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดทั่วโลก นอกจากนั้น ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากความคืบหน้าของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เริ่มมีการส่งมอบและดำเนินการฉีดในหลายประเทศ รวมถึงการที่อังกฤษได้อนุมัติวัคซีนของบริษัท AstraZeneca-Oxford เป็นประเทศแรก ทำให้ตลาดคาดหวังผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะสามารถลดการแพร่ระบาดได้
สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ประกอบด้วย
-ราคาน้ำมันดิบตอบรับเชิงบวกต่อผลการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสในวันที่ 4-5 ม.ค. 64 ที่มีมติคงการลดกำลังผลิตน้ำมับดิบของกลุ่มที่ระดับ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงเดือน มี.ค. 64 ทั้งซาอุดิอาระเบียอาสาลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.พ. และ มี.ค. 64 เพื่อรักษาระดับของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังให้อยู่ในระดับที่สมดุล และเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ยังคงฟื้นตัวไม่มากนัก หลังหลายประเทศมีการบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์อีกครั้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่
อย่างไรก็ตาม รัสเซียและคาซัคสถานมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตราว 75,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน ก.พ. 64 และ 150,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน มี.ค. 64 ส่งผลให้ข้อตกลงลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัสในเดือน ก.พ. 64 และ มี.ค. 64 โดยรวมอยู่ที่ระดับ 8.125 และ 8.05 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ สำหรับข้อตกลงลดกำลังการผลิตในเดือน เม.ย. 64 จะมีการประชุมอีกครั้งในเดือน มี.ค. 64
-ตลาดยังคงจับตาการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก-10 ว่าจะเป็นไปตามข้อตกลงหรือไม่ เนื่องจากล่าสุดความร่วมมือปรับลดกำลังการผลิตในเดือน ธ.ค. 63 ลดลงร้อยละ 3 จากเดือน พ.ย. 63 แตะระดับร้อยละ 99 ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 63 โดยในเดือน ธ.ค. 63 กำลังการผลิตของกลุ่มอยู่ที่ระดับ 21.86 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 0.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือน พ.ย. 63 ขณะที่การผลิตน้ำมันดิบของลิเบียในเดือน ธ.ค. 63 ซึ่งได้รับการยกเว้นข้อตกลงลดกำลังการผลิต สูงขึ้นจากเดือน พ.ย. 63 ราว 0.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 1.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามรายงานของรอยเตอร์
-การส่งมอบและการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น จากสามารถกลับมาดำเนินกิจการทางเศรษฐกิจได้ โดยปัจจุบันบริษัท Pfizer-BioNTech และบริษัท Moderna มีการส่งมอบวัคซีนให้กับหลายประเทศแล้ว และคาดว่าวัคซีนจะแพร่หลายทั่วโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 64 โดยล่าสุดอังกฤษเป็นประเทศแรกที่อนุมัติวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัท AstraZeneca-Oxford
สำหรับการใช้กรณีฉุกเฉิน โดยคาดว่าการส่งมอบและฉีดวัคซีนสามารถดำเนินการได้ภายในเดือน ม.ค. 64 นอกจากนั้น อาร์เจนติน่า เอกวาดอร์ และอินเดีย ก็มีการอนุมัติการใช้วัคซีนจากบริษัท AstraZeneca-Oxford เช่นเดียวกัน ขณะที่เม็กซิโก บราซิล และยุโรป อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา
-ตลาดยังคงกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในอังกฤษ ที่ทำให้อังกฤษต้องใช้มาตรการล็อคดาวน์เป็นครั้งที่ 3 เริ่มต้นวันที่ 4 ม.ค. 64 หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นมากกว่า 1 ล้านคน หรือคิดร้อยละ 2 ของประชากรทั้งประเทศ แม้ว่าประชากรมากกว่า 1.3 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนโดสแรกแล้วก็ตาม โดย JP Morgan คาดว่าเศรษฐกิจของอังกฤษในไตรมาส 1/64 จะหดตัวราว 2.5% ขณะที่เชื้อไวรัสดังกล่าวยังมีแพร่ระบาดไปทวีปอื่น โดยเฉพาะทวีปยุโรป อาทิเช่น ออสเตรีย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน ทำให้ต้องมีการบังคับใช้หรือยืดระยะเวลาล็อคดาวน์ออกไปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดด้วย
-สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด 1 ม.ค. 64 ปรับลดลง 8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 485.5 ล้านบาร์เรล นับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ส.ค. 63 ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลด 2.1 ล้านบาร์เรล โดยการปรับลดดังกล่าว คาดว่าเป็นการปรับลดของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯในช่วงปลายปีตามปกติ เพื่อลดภาระภาษี
นอกจากนั้น EIA รายงานกำลังการผลิตของสหรัฐฯ ในปี 63 ลดลงแตะระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยลดจากระดับ 12.9 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 62 เนื่องจากราคาน้ำมันในระดับต่ำ ไม่จูงใจให้ผู้ผลิตดำเนินการผลิตน้ำมันดิบ
-ตลาดกังวลสถานการณ์การเมืองสหรัฐฯ หลังฝูงชนที่สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บุกเข้าอาคารรัฐสภา กรุงวอชิงตัน เพื่อขัดขวางการประชุมลงมติรับรองผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่นายโจ ไบเดนเป็นผู้ชนะ จนมีการยกเลิกการประชุม และผู้เข้าร่วมประชุมต้องอพยพออกจากห้องประชุม และกรุงวอชิงตันต้องประกาศเคอร์ฟิว เพื่อระงับสถานการณ์
-เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้บริโภคจีนและสหรัฐฯเดือน ธ.ค. 63 ตัวเลขการส่งออกและนำเข้าจีนเดือนธ.ค.63 ผลผลิตอุตสาหกรรมอังกฤษและกลุ่มยูโรโซนเดือน พ.ย. 63