กฟผ.ชี้แจงความจำเป็นระบายน้ำเขื่อนบางลาง
กฟผ. ร่วมกับจังหวัดยะลา เร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมชี้แจงความจำเป็นต้องระบายน้ำเขื่อนบางลาง หลังฝนตกหนัก ช่วง 4 – 6 ม.ค. ที่ผ่านมา
นายประเสริฐ อินทับ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำเขื่อนบางลางหลังจากได้รับอิทธิพลฝนตกหนักในช่วงวันที่ 4 – 6 มกราคม 2564 ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนบางลางอย่างรวดเร็ว จนระดับน้ำสูงเกินกว่าระดับกักเก็บปกติ
กฟผ. จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำฉุกเฉิน ในวันที่ 6 มกราคม 2564 เวลา 06.46 น. เพื่อรักษาความปลอดภัยของตัวเขื่อน และควบคุมปริมาณน้ำไหลเข้าและระบายออกให้อยู่ในสภาวะที่สมดุล โดยน้ำไหลหลากเข้าเขื่อนสูงสุดถึง 137 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือ 2,940 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และได้ระบายออกเพียง 798 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ประมาณ 1 ใน 4 ของน้ำที่ไหลเข้าเขื่อน)
เมื่อปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสูงสุดผ่านพ้นไปแล้ว เขื่อนบางลางได้ทยอยปรับลดการระบายน้ำลงอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน (วันที่ 10 มกราคม 2564 เวลา 00.00 น.) ระบายน้ำอยู่ที่ 531 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะปรับลดการระบายน้ำลงอีกเมื่อปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนลดลง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดยะลาและปัตตานี
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในอ่างสูงสุด 1,505 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 103.5% เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ปัจจุบันลดลงเหลือ 1,444 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 99.23% โดย กฟผ. ได้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ร่วมกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กรมชลประทาน เพื่อควบคุมการระบายและการผลักดันน้ำที่ปากแม่น้ำปัตตานีให้ไหลลงทะเลได้รวดเร็ว เพื่อลดระดับน้ำที่ท่วมขังบริเวณจังหวัดยะลาและปัตตานี
สำหรับความช่วยเหลือในเบื้องต้น กฟผ. ได้ลงพื้นที่ชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยแจกจ่ายถุงยังชีพและน้ำดื่ม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัย
อย่างไรก็ตามได้รับรายงานว่าจะมีพายุเข้าอีกเร็ว ๆ นี้ จึงขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อมและติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนบางลางอย่างใกล้ชิดได้ทางเว็บไซต์ WATER.EGAT.CO.TH หรือ www.banglang.egat.co.th และแอปพลิเคชัน EGAT Water