คืนชีพ “โซลาร์ภาคประชาชน” เพิ่มราคารับซื้อไฟ
กพช. อนุมัติเพิ่มราคาซื้อไฟฟ้า โครงการโซลาร์ภาคประชาชน เป็น 2.20 บาท/หน่วย พร้อมขยายผลสู่ โรงเรียน โรงพยาบาล การเกษตร วางเป้า 100 MV จ่ายเข้าระบบปี 64
เมื่อ 25 ธ.ค.63 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบตามมติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากกลุ่มบ้านผู้อยู่อาศัย ใน โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชน จากเดิมไม่เกิน 1.68 บาท/หน่วย เป็น 2.20 บาท/หน่วย ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 โดยมีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจำนวน 50 เมกะวัตต์
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน บอกว่า ราคารับซื้อไฟฟ้าอัตราใหม่นี้ ครอบคลุมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการใหม่ และที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ซึ่งการปรับเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าให้ผลตอบแทนดีขึ้น สามารถคืนทุนภายใน 8 – 9 ปี เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย
นอกจากนั้นยังได้ ขยายผลการดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชน ไปยังกลุ่มโรงเรียนสถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งจะเป็นโครงการนำร่องอีกจำนวน 50 เมกะวัตต์ โดยกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ในอัตรา 1.00 บาท/หน่วย แบ่งเป็นกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา 20 เมกะวัตต์ กลุ่มโรงพยาบาล 20 เมกะวัตต์และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 10 เมกะวัตต์
สำหรับหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้จะต้องมีกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 เมกะวัตต์แต่น้อยกว่า 200 เมกะวัตต์ ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี เพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าและศักยภาพพื้นที่ สำหรับติดตั้งระบบโดยเฉลี่ย และส่งเสริมระบบผลิตไฟฟ้าแบบกระจาย
ส่วนกรณีการลงทุนโดยภาครัฐในส่วนของกลุ่มโรงเรียนและโรงพยาบาล ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ไปหารือกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม คาดว่าจะสามารถประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ภายในไตรมาสแรกปี 2564
อย่างไรก็ดี โครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชน และโครงการนำร่องในกลุ่มโรงเรียนและโรงพยาบาล จำนวนรับซื้อไฟฟ้ารวม 100 เมกะวัตต์ จะสามารถสร้างการลงทุนได้กว่า 3,000 ล้านบาท
นายสุพัฒนพงษ์ บอกว่า ที่ผ่านมา ได้ทดลอง โครงการโซลาร์ภาคประชาชน มาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ปี 2562 พบว่า ยังจูงใจไม่เพียงพอ มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเพียง 2-3 เมกะวัตต์ ที่ประชุมจึงได้พิจารณาส่งเสริม เพื่อดึงดูดให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้มากขึ้น ด้วยการปรับราคารับซื้อไฟฟ้าจาก 1.68 บาท/หน่วย เป็น 2.20 บาท/หน่วย
“นี้คือสิ่งที่รัฐบาลได้เห็นถึงประโยชน์ของโครงการฯ ที่จะส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้มีประสบการณ์การใช้พลังงานสะอาดในครัวเรือน เชื่อว่าจะสามารถดึงดูดภาคประชาชนเข้ามาโครงการได้มากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อการสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจ การลงทุนในปีหน้า ถือว่าเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนที่อยู่อาศัยที่จะได้รับโครงการดีๆที่เกี่ยวกับกระทรวงพลังงาน” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว