โควิด-19 เสี่ยงกระทบแผนแก้จนในจีน
โรคระบาดโควิด -19 ส่งผลกระทบกับแผนการของจีนในการขจัดความยากจนในปีนี้ โดยกระทบการจ้างงานของแรงงานอพยพที่ยากจน และรายได้ของสหกรณ์หมู่บ้าน และอุตสาหกรรมในชนบท เจ้าหน้าที่อาวุโสรายหนึ่งของจีนให้ข้อมูล
หลิวหย่งฟู ซึ่งเป็นผู้บริหารสำนักบรรเทาความยากจนภายใต้สภารัฐกิจ หรือคณะรัฐมนตรีของจีน ระบุในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ว่า ไวรัสโคโรนาทำให้เกิดความเสี่ยงที่ประชาชนจำนวนมากจะตกอยู่ในภาวะความยากจน
รัฐบาลชี้แจงว่าประชาชน 380,000 คนจะกลายเป็นคนยากจนในปีนี้ โดยหลิวเน้นว่าภาวะการระบาดทั่วโลกเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจและลดออร์เดอร์การผลิต
“ นี่อาจกระทบกับการจ้างงานและอัตราการว่างงานสูงขึ้น นี่เป็นความจริงทั่วโลกและจีนก็ไม่มีข้อยกเว้น” เขากล่าว
ความเห็นของเขาเน้นให้เห็นถึงความท้าทายที่จีนต้องเผชิญในระหว่างแผนการลดความยากจนในปีนี้
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นว่าจะต้องมีประเด็นการบรรเทาความยากจนในนโยบายของส.ส.ในการประชุมนิติบัญญัติประจำปี ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 21 พ.ค.ในกรุงปักกิ่ง
โดยหลิวกล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงความยากลำบากซึ่งเป็นผลมาจากโควิด-19 และรัฐบาลกลางจะมีหลายมาตรการช่วยเหลือ ทั้งสวัสดิการสาธารณะ และการซื้อสินค้าจากเกษตรกรที่ยากจน เพื่อบรรเทาผลกระทบ
แม้โควิด-19 จะสั่นคลอนเศรษฐกิจของจีน รัฐบาลยังหวังว่าจะบรรลุเป้าหมายในการขจัดความยากจนในประเทศภายในสิ้นปีนี้ ตามคำสัญญาของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่ให้ไว้กับประชาชนเมื่อปี 2558
ในเดือนมี.ค. ประธานาธิบดีสีเพิ่มความเชื่อมั่นในคำสัญญาขึ้นไปอีก แม้ประเทศกำลังประสบกับวิกฤตไวรัสโคโรนาก็ตาม โดยเขากล่าวกับพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลว่าเป็น ‘ข้อผูกพันที่จริงจัง ’ ต่อประชาชน ไม่มีการล่าถอย หรือยืดหยุ่นในนโยบายนี้อย่างเด็ดขาด
โดยประธานาธิบดีสีระบุว่า ความสำเร็จของจีนในเรื่องนี้ “ แสดงให้เห็นถึงความได้เปรียบทางการเมืองของความป็นผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ และระบบสังคมของเรา”
ทั้งนี้ ตั้งแต่จีนเริ่มปฏิรูปและเปิดประเทศในปี 2521 ได้ทำให้ประชาชนประมาณ 850 ล้านคนพ้นจากความยากจน
โดยสถิติของทางการชี้ว่า มีประชาชนประมาณ 5.51 ล้านคนที่ยังใช้ชีวิตต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน คือผู้ที่มีรายได้ต่อปีประมาณ 3,000 หยวน ( ราว 13,650 บาท)
รศ.จอห์น โดนัลด์สัน จาก Singapore Management University ซึ่งทำวิจัยเรื่องความยากจนในจีน ระบุว่า นโยบายการลดความยากจนทำให้มีการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง
มีการประเมินว่าความยากจนเป็นปัญหาเรื้อรัง การที่จะประเมินว่าครัวเรือนจะยากจนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การเกิด และการเสียชีวิต
เขาระบุว่า ปัญหาสำคัญคือจะไม่สามารถเอาชนะความยากจนได้อย่างเต็มรูปแบบ
“คนจำนวนมากถูกจัดเข้าหรือจัดออกเป็นกลุ่มคนยากจน มีการประเมินความยากจนผิด ตัวอย่างเช่น ที่ระบุว่า มีคน X ล้านคนที่พ้นจากความยากจน”
“มีการประเมินผิดพลาดเนื่องจากพวกเขาเป็นกลุ่มเดียวกัน เดือนต่อเดือน” เขาระบุ