จีนส่งออก/นำเข้า ดิ่งเดือนมี.ค.
ตัวเลขนำเข้าและส่งออกของจีนลดลงในเดือนมี.ค. เนื่องจากจีนยังคงได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด -19
โดยยอดส่งออกของจีนลดลง 6.6% คิดเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว จากข้อมูลที่เผยแพร่โดยกรมศุลกากรของจีน หลังจากในเดือนม.ค. – ก.พ. มีตัวเลขรวมกันที่หดตัวดิ่งฮวบลงถึง 17.2%
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของเดือนมี.ค.ของจีนยังคงสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เฉลี่ยของนักวิเคราะห์จากการสำรวจโดยสื่อรอยเตอร์ที่ชี้ว่าจะลดลงถึง 13.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ยอดนำเข้าลดลง 0.9% เมื่อเทียบกับปี 2562 และเทียบกับตัวเลขคาดการณ์เฉลี่ยจากผลสำรวจของนักวิเคราะห์สื่อบลูมเบิร์กที่ประเมินว่ายอดนำเข้าลดลง 9.5% ในแง่ดอลลาร์สหรัฐฯ
“ จากการระบาดทั่วโลกของโควิด-19 เศรษฐกิจโลกเผชิญกับแรงกดดันด้านลบที่เพิ่มขึ้น มีความผันผวนมากขึ้น การค้าต่างประเทศของจีนประสบกับความยากลำบากครั้งสำคัญ” หลี่กุ้ยเหวิน โฆษกกรมศุลกากรของจีนระบุ
โดยภาพรวมในไตรมาสแรกของปี 2563 ยอดส่งออกของจีนดิ่งลงถึง 13.3% ขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 2.9%
สัปดาห์ก่อน กระทรวงพาณิชย์ของจีนระบุว่า ยอดนำเข้าและส่งออกปรับดีขึ้นในเดือนมี.ค.หลังจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทรุดลงในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ แต่ชี้ว่าแนวโน้มของการส่งออกของจีนยังคงไม่สดใสจากสภาพเศรษฐกิจที่ถูกทำลายจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีอย่างต่อเนื่อง
คาดการณ์ว่าการค้าทั่วโลกจะดิ่งลงถึง 32% ในปี 2563 จากความเสียหายที่ไวรัสสร้างไว้ที่กระทบเศรษฐกิจ จากข้อมูลขององค์การการค้าโลกในสัปดาห์ที่แล้ว
จากการยุติมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่ของจีนต้องปิดธุรกิจในเดือนก.พ. และผู้ส่งออกส่วนใหญ่ของจีนกลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้งอย่างน้อย 70% ในวันที่ 30 มี.ค. จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
แม้การผลิตจะฟื้นตัว แต่โรงงานกลับประสบปัญหาไม่มีออร์เดอร์จากต่างประเทศเนื่องจากดีมานด์ที่ลดฮวบเพราะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากไวรัสในสหรัฐฯและยุโรป
ในสัปดาห์ก่อน คณะรัฐมนตรีของจีนออกนโยบายอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการค้า ทั้งการจัดตั้ง 46 เขตบูรณาการการบินใหม่เพื่อการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน รวมถึงการจัดการค้าออนไลน์อย่างงาน แคนตันแฟร์ ซึ่งเป็นงานแฟร์การค้าที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดของจีนในช่วงปลายเดือนมิ.ย.
นอกจากนี้ ยังเร่งขับเคลื่อนงานเอ็กซ์โปร์นำเข้านานาชาติของจีนครั้งที่ 3 ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนพ.ย.ที่นครเซี่ยงไฮ้ โดยมีกว่า 1,000 บริษัทที่ลงทะเบียนเข้าร่วมแล้ว
ในวันที่ 13 เม.ย. เกาหลีใต้รายงานตัวเลขส่งออกในช่วง 10 วันแรกของเดือนเม.ย.ที่ลดฮวบลงถึง 18.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สวนทางกับยอดเดือนมี.ค.ที่เติบโตถึง 20.8%
ขณะที่ตัวเลขนำเข้าของเกาหลีใต้ก็ลดลง 13.0% เมื่อเทียบกับตัวเลขเติบโต 14.5% ในเดือนมี.ค. จากข้อมูลของศูนย์บริการข้อมูลศุลกากรเกาหลี
โดยมูลค่าการจัดส่งสินค้าไปจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ลดลงถึง 10.2%