งูอาจเป็นต้นตอไวรัสที่อู่ฮั่น
พิตสเบิร์ก , เพนซิลเวเนีย : งูสามเหลี่ยม และงูเห่าในจีน อาจเป็นแหล่งกำเนิดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อให้เกิดโรคระบาดจนทำให้มีผู้เสียชีวิตในจีนในฤดูหนาวนี้
มีการรายงานผู้ป่วยรายแรกช่วงปลายเดือนธ.ค.2562 ในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่ทางตอนกลางของจีน และแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้น ผู้ป่วยที่เดินทางจากอู่ฮั่นก็แพร่เชื้อสู่คนอื่นๆ ในจีนและประเทศอื่นๆ รวมทั้งสหรัฐฯด้วย
จากตัวอย่างไวรัสที่ได้จากผู้ป่วย ทำให้นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนทราบว่าเป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรค Sars ซึ่งเคยเป็นโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้ป่วยไปหลายร้อยรายทั่วโลกเมื่อ 17 ปีก่อน
องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกไวรัสโคโรนาตัวใหม่ว่า 2019-nCoV แต่ยังมีคำถามอีกมากที่ต้องการคำตอบเพื่ควบคุมการแพร่ระบาดที่เป็นภัยต่อสาธารณชน
แม้ไวรัสโคโรนาส่วนใหญ่จะก่อให้เกิดอาการคล้ายเป็นหวัดในช่วงติดเชื้อ แต่ไวรัส 2019-nCoV อาจทำให้มีอาการคล้ายโรค Sars และ Mers คือทำให้เกิดอาการอักเสบอย่างรุนแรง และโชคร้ายที่ยังไม่มีวัคซีน หรือยาแอนตี้ไวรัส ในการรักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรนา
ทั้ง Sars และ Mers เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสที่แพร่จากสัตว์สู่คน หมายความว่าผู้ป่วยรายแรกได้รับเชื้อโดยตรงจากสัตว์ และตอนนี้ไวรัสโคโรนาตัวใหม่นี้สามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คน
การศึกษาภาคสนามเผยว่า แหล่งต้นตอของโรค Sars และ Mers คือค้างคาว , อีเห็นเครือ (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในเอเชียและแอฟริกา) และอูฐ ตามลำดับ คือพาหะนำโรคจากค้างคาวมาสู่คน
รายงานภาครัฐระบุว่า ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยกลุ่มแรกที่รักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นคนที่ทำงานในตลาดค้าส่งอาหารทะเล ซึ่งขายเนื้อสัตว์แปรรูป และสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น สัตว์ปีก ลา แกะ หมู อูฐ สุนัขจิ้งจอก ตัวแบดเจอร์ หนูไม้ไผ่ เม่น และสัตว์เลื้อยคลาน
นักวิจัยทำการวิเคราะห์ รหัสพันธุกรรมจากไวรัสตัวใหม่ 2019-nCoV และเปรียบเทียบกับรหัสพันธุกรรมจากไวรัสโคโรนาตัวอื่นที่พบในสัตว์ชนิดอื่น อย่างนก งู กระรอกยักษ์ เม่น ตัวนิ่ม ค้างคาว และมนุษย์ น่าประหลาดใจที่พวกเขาพบว่ารหัสพันธุกรรมในไวรัส 2019-nCoV ส่วนใหญ่เหมือนกับที่อยู่ในงู ซึ่งงูมักจะล่าค้างคาวเป็นเหยื่อ
รายงานชี้ว่า มีการขายงูในตลาดอาหารทะเลในอู่ฮั่นด้วย ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ไวรัส 2019-nCoV อาจกระโดดข้ามจากค้างคาวมาที่งูและติดต่อสู่คน ทำให้เกิดโรคระบาดใหม่
อย่างไรก็ตาม คำถามที่ว่าทำไมไวรัสจึงปรับตัวจากสัตว์เลือดเย็นมาสู่สัตว์เลือดอุ่นได้ ยังคงเป็นปริศนา
ผู้เขียนรายงานและนักวิจัยคนอื่นๆ ต้องพิสูจน์แหล่งกำเนิดของไวรัสผ่านการทดสอบในห้องทดลอง และการหาผลที่ตามมาของไวรัส 2019-nCoV ในงูเป็นเรื่องแรกที่จะต้องทำ
อย่างไรก็ตาม หลังเกิดโรคระบาด มีการฆ่าเชื้อและปิดตลาดอาหารทะเลในอู่ฮั่น ทำให้ยากขึ้นที่จะตามแกะรอยหาต้นตอของไวรัสใหม่นี้
โรคระบาดจากไวรัส 2019-nCoV เป็นตัวอย่างที่ดีว่า ประชาชนควรจำกัดการบริโภคสัตว์ป่า เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คน.