ขยะทะเลในจีนปีที่แล้วพุ่ง 27%
ปักกิ่ง/เซี่ยงไฮ้ (รอยเตอร์) – เมื่อวันที่ 29 ต.ค. กระทรวงที่กำกับดูแลสิ่งแวดล้อมของจีนรายงานว่า จีนทิ้งขยะจำนวนมากถึง 200.7 ล้านลูกบาศก์เมตรลงในน้ำทะเลชายฝั่งในปี 2561 เพิ่มขึ้นถึง 27% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบเกือบทศวรรษ
โดยขยะส่วนใหญ่ถูกทิ้งลงในบริเวณปากแม่น้ำแยงซีเกียงและแม่น้ำเพิร์ล ซึ่งเป็นสองเขตอุตสาหกรรมสำคัญทางชายฝั่งตะวันออกของจีน จากรายงานของกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม
“ ในเวลานี้ มีปัญหาที่ชัดเจนในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล เนื่องจากบางพื้นที่ไม่แสดงออกถึงความตระหนักรู้ หรือให้ความใส่ใจมากพอ และขาดความคิดริเริ่มและการอุทิศตัวในการแก้ปัญหาอย่างเต็มที่” หัวชวนหลิน รองผอ.ฝ่ายสิ่งแวดล้อมทางทะเลของกระทรวงระบุในการแถลงข่าวที่กรุงปักกิ่ง
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแสดงความกังวลเกี่ยวกับจีน ที่ดูจะสิ้นหวังในการทำความสะอาดแม่น้ำของตัวเอง แต่กลับเพิ่มจำนวนขยะในทะเลมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เขาระบุว่าสภาพโดยรวมของน้ำทะเลชายฝั่ง รวมทั้งประเด็นน้ำเสียที่ไหลจากแม่น้ำลงสู่ทะเล มีการปรับปรุงพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น และจีนไม่ควรถูกกล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤตมลพิษในมหาสมุทร
“ จีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่ที่สุด คิดเป็นประมาณ 30% ของทั้งโลก แต่ไม่ได้หมายความว่าจีนเป็นประเทศที่สร้างมลพิษด้วยขยะพลาสติกในทะเลรายใหญ่เช่นกัน” เขากล่าว
กระทรวงระบุว่า ในปี 2561 จีนพบขยะที่ลอยในน้ำเฉลี่ย 24 ก.ก.ต่อจำนวนขยะที่ลอยบนผิวน้ำจำนวน 1,000 ตารางเมตร โดย 88.7% เป็นขยะพลาสติก
ก่อนหน้านี้ในปีนี้ รัฐบาลจีนตีพิมพ์แผนปฏิบัติการที่ออกแบบมาเพื่อทำความสะอาดชายหาดป๋อไห่ ซึ่งเป็นหนึ่งในทางน้ำที่มีการใช้งานคับคั่งที่สุดและมีมลพิษมากที่สุดในประเทศ
จีนจัดสรรงบประมาณจำนวน 7,000 ล้านหยวน ( 30,240 ล้านบาท ) ในการทำความสะอาดในปีนี้เพียงปีเดียว แต่หัวระบุว่า คาดการณ์ว่าเป็นเรื่องยากลำบากที่จะทำให้ได้ตามเป้าอย่างน้อย 73% ของอ่าวป๋อไห่ภายในปีหน้า เพิ่มขึ้นจาก 70% ในปัจจุบัน
โดยจีนมีแผนจะพัฒนาฟื้นฟูน่านน้ำชายฝั่งให้ได้ประมาณ 30% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเฝ้าระวังระบบนิเวศของประเทศ นอกจากนี้ จีนยังพยายามที่จะปกป้องแม่น้ำและพัฒนาสิ่งแวดล้อมในเมืองต่างๆ ด้วยการย้ายอุตสาหกรรมที่มีมลพิษอย่างอุตสาหกรรมเหล็กและปิโตรเคมีไปที่บริเวณชายฝั่ง