ประท้วงฮ่องกงกระทบเศรษฐกิจ
ฮ่องกง – ห้องพักโรงแรมว่าง ร้านไม่มีลูกค้า ถึงแม้ดิสนีย์แลนด์เองก็ตาม จากผลพวงของการประท้วงนานหลายเดือนที่ฮ่องกงที่ยังไม่มีวี่แววจะยุติ ฉุดเศรษฐกิจฮ่องกงให้ดิ่งร่วง
แคร์รี แลม ผู้นำฮ่องกงออกโรงเตือนว่า ฮับการเงินนานาชาติแห่งนี้กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายยิ่งกว่าในช่วงที่เกิดโรคระบาด SARS ในปี 2546 หรือในปี 2551 ที่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก
“สถานการณ์ตอนนี้ร้ายแรงยิ่งกว่า” เธอกล่าว “หรือพูดอีกอย่างก็คือ ใช้เวลานานกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว ”
ภาคเอกชน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เริ่มเห็นความเสียหายมานานกว่า 2 เดือนจากผลของการประท้วง ซึ่งเริ่มต้นจากการต่อต้านร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปจีน แต่ลุกลามกลายเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่มีแต่ความรุนแรง
ตัวเลขที่เห็นชัดเจนคือยอดจองห้องพักในโรงแรมที่ลดลงเป็นตัวเลขสองหลัก จากจำนวนนักเดินทางขาเข้าในเดือนก.ค. โดยยอดจองกรุ๊ปทัวร์จากตลาดนักท่องเที่ยวระยะใกล้ดิ่งฮวบลงถึง 50%
“ในช่วงสองเดือนนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกงทำให้การใช้ชีวิตของคนฮ่องกง รวมทั้งเศรษฐกิจน่ากังวล เป็นสถานการณ์ที่อันตราย” เอ็ดเวิร์ด เหยา รมว.กระทรวงพาณิชย์และพัฒนาเศรษฐกิจฮ่องกงระบุ
“ผมคิดว่าสถานการณ์กำลังร้ายแรงขึ้น” เจสัน หว่อง ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฮ่องกงกล่าวกับสื่อ AFP
โฆษกการท่องเที่ยวฮ่องกงกล่าวว่า จำนวนยอดจองท่องเที่ยวในเดือนส.ค.และก.ย.“ลดลงอย่างชัดเจน” ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจจะซบเซาตลอดช่วงฤดูร้อน
หลายประเทศออกคำเตือนพลเมืองให้ระวังการเดินทางมาฮ่องกง รวมทั้งสหรัฐฯ ออสเตรเลียและญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ภาคค้าปลีกได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากร้านค้าต้องปิดในช่วงที่มีการประท้วงในแต่ละวัน
อย่างไรก็ตาม ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งดิ่งร่วงลงมากกว่า 20% ในช่วงวิกฤตการเงินปี 2551 ยังคงแข็งแกร่ง
แต่ Stephen Innes หุ้นส่วนบริหารของ Valour Markets ให้ความเห็นว่า วิกฤตในครั้งนี้อาจส่งผลให้เงินทุนไหลออก “เงินทั้งหมดจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่พยุงตลาดอสังหาฯฮ่องกง อาจไหลออกอย่างรวดเร็วเหมือนกับตอนที่ไหลเข้ามา” เขากล่าว “นี่อาจแย่กว่าที่พวกเราคาดไว้”
“ในช่วงแรก การประท้วงเป็นไปอย่างสงบ คุณจะเห็นว่าเหมือนกับการประท้วงในปี 2557” Martin Rasmussen นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนประจำ Capital Economics ระบุ
“ตอนนี้ มันเริ่มรุนแรงกว่ามาก เราเลยคิดว่าผลกระทบกับเศรษฐกิจจะมากขึ้น”.