ศูนย์อาเซียน-จีน จุดเชื่อมสื่อไทย-จีน-อาเซียน
ความสัมพันธ์ในทุกมิติ ระหว่างรัฐบาลจีนกับรัฐบาล 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียนช่วงที่ผ่านมา ถือว่า ได้รับการยกระดับและพัฒนามากขึ้นตามลำดับ
สำหรับประเทศไทย ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า…ด้วยความได้เปรียบในเชิงภูมิประเทศ ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้อย่างแท้จริง และจัดเป็น “พี่ใหญ่” ในกลุ่มเส้นทางเศรษฐกิจ “สายไหมใหม่ทางบก” (หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง : One Belt One Road) บริเวณทางใต้ของจีน คือ CLMVT อีกทั้งยังมีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย กอปรกับการเป็นชาติที่มี “ชาวจีนโพ้นทะเล” อาศัยมากที่สุดในโลก
จึงไม่แปลก! หากรัฐบาลจีน ภายใต้การนำของ นายสี จิ้นผิง ปธน.จีน จะให้น้ำหนักความสำคัญกับรัฐบาลไทย นับแต่ รัฐบาลประยุทธ์ 1 จนถึง รัฐบาลประยุทธ์ 2 ในวันนี้..
ยิ่งปมความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ยังเป็นเพียงการ “พักยก” ระวันปะทุขึ้นใหม่ ยิ่งทำให้แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตบางส่วนจากจีน มายังชาติอาเซียน โดยเฉพาะกับไทยและเวียดนาม ดูจะมีแนวโน้มสูงเนื่องจากมีความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ เหนือกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค CLMVT
ทั้งนี้ เพื่อตัดปัญหาการถูกกีดกันการส่งออก ผ่านกำแพงภาษีเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ แต่จากการที่เวียดนาม ถูกมองในภาพลบจากรัฐบาลวอชิงตัน ด้วยเหตุผล…ทำการค้าเอาเปรียบสหรัฐฯ จนเกินดุลการค้าจำนวนมหาศาล โอกาสครั้งใหม่ จึงน่าจะตกมาอยู่ในไทยค่อนข้างสูง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2549 คราวที่…ผู้นำจีนและผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ ได้หารือถึงการจัดตั้ง “ศูนย์อาเซียน-จีน” (ASEAN China Centre: ACC) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศขึ้นมา แม้จะยังไม่เห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก แต่ก็ถือเป็น “จุดกำเนิด” สำคัญของหน่วยงานนี้ กระทั่ง ต่อมาในเวทีการประชุม สุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 12 เมื่อปี 2552 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพณ จึงได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์อาเซียน-จีน”
กระนั้น ยังต้องใช้เวลาอีก 2 ปี (2554) “ศูนย์อาเซียน-จีน” จึงได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อครั้งการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 14 เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์อาเซียนกับจีนในฐานะประเทศคู่เจรจา ครบรอบปีที่ 20 ณ กรุงจาการ์ต้า อินโดนีเซีย
โดยร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจจัดตั้งศูนย์อาเซียน-จีน พร้อมกับระบุถึงวัตถุประสงค์ บทบาท หน้าที่ และกิจกรรม ในฐานะ (1) ผู้ประสานงานซึ่งช่วยสนับสนุนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความเข้าใจอันดีระหว่างอาเซียนกับจีน (2) ผู้ริเริ่มดำเนินกิจกรรมที่สามารถปฏิบัติได้จริง เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การศึกษา วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ระหว่างอาเซียนกับจีน และ (3) ผู้สนับสนุนด้าน ข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนอาเซียนและจีน
ทั้งนี้ ศูนย์อาเซียน-จีน ได้ถูกวางตำแหน่งให้เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และมีสำนักเลขาธิการ ตั้งอยู่ที่กรุงปักกิ่ง สาธารรัฐประชาชนจีน โดยมี “เลขาธิการ” เป็นหัวหน้า และ “เลขาธิการ” 2 คนแรก จะได้รับคัดเลือกโดยหมุนเวียนกันตามวาระ 3 ปี ระหว่างจีน และประเทศสมาชิกอาเซียน
ปัจจุบัน…เลขาธิการศูนย์อาเซียน-จีน คือ นายหม่า หมิงเจี๋ยน (Ma Mingqiang) อดีตรองอธิบดีกรมเอเชียของกระทรวงต่างประเทศจีน
ระหว่างการเดินทางเพื่อศึกษาดูงานของคณะสื่อมวลชนไทย (Thai News Media) ประจำปี 2562 หรือ China Trip by CIPG Season 2 จัดโดยกรมกิจการจัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือภาษาต่างประเทศแห่งประเทศจีน (CIPG), สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และศูนย์จีน-อาเซียน (ปักกิ่ง) โดยมีนิตยสาร CHINA REPORT ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานปฏิบัติงาน คอยประสานงานฯ ณ เมืองซีอาน มณฑลส่านซี และเมืองซีหนิง มณฑลชิงไห่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 15-20 ก.ค.2562 ที่ผ่านมา
มีบางช่วงที่ตัวแทนจาก ศูนย์อาเซียน-จีน ได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวจาก AEC10NEWS ถึงความร่วมมือข้างต้น โดย น.ส.หวัง โจว เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศูนย์อาเซียน-จีน กล่าวว่า นอกจากจะส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน การศึกษา วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ระหว่างอาเซียนกับจีนแล้ว ศูนย์อาเซียน-จีน ยังให้น้ำหนักความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างสื่อมวลชนอาเซียนและจีน ด้วยมั่นใจว่า จุดเริ่มต้นความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างสื่อมวลชนอาเซียนและจีนนั้น จะนำมาซึ่งการนำเสนอและเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลสร้างสรรค์ อันเป็นจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
การจัดงานโครงการศึกษาดูงานของคณะสื่อมวลชนไทยครั้งที่ 2 นี้ ทางศูนย์อาเซียน-จีน พร้อมให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี โดย 2 เดือนก่อนหน้านี้ (พ.ศ. 2562) ได้จัดเชิญสื่อมวลชนจากอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ให้เดินทางมาศึกษาดูงานที่ประเทศจีน ด้วยจุดประสงค์เดียวกัน นั่นคือ ต้องการสานต่อความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างสื่อมวลชนจากชาติอาเซียนและจีน โดยมั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะได้รับการสานต่อจาก ศูนย์อาเซียน-จีน และหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะ CIPG สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และ นิตยสาร CHINA REPORT ประจำกรุงเทพฯ
ขณะที่ น.ส.หวง อวี่ เจวี๋ย หรือ “ไอวี่” เลขานุการตรี สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ระบุว่า สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนการจัดทำโครงการดังกล่าว รวมถึงสนับสนุนด้านข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีน หากสื่อมวลชนไทยต้องการ โดยหวังว่า ข่าวสารและข้อมูลใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีน จะถูกนำเสนอสู่สังคมไทยอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและรอบด้าน เพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
ด้าน นายฉือ กวง หรือ “ไซม่อน” ผู้อำนวยนิตยสาร CHINA REPORT ประจำกรุงเทพฯ กล่าวว่า นิตยสาร CHINA REPORT ประจำกรุงเทพฯ พร้อมดำเนินการจัดโครงการในลักษณะนี้ ตามนโยบายของ CIPG ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัด และทางสำนักงานใหญ่ นิตยสาร CHINA REPORT ณ กรุงปักกิ่ง ต่อไป โดยพยายามจะเชิญสื่อมวลชนไทย และสื่อมวลชนอาเซียน เข้าร่วมโครงการศึกษาดูงานในประเทศจีน ในเมืองและมณฑลอื่นๆ เพื่อจะได้รู้จักประเทศจีนในทุกมิติ เพื่อนำเสนอข่าวสารและข้อมูลจากการได้ลงพื้นที่จริง เพราะเชื่อว่าการได้มาเห็นกับตาได้พูดคุยและสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง ย่อมดีกว่าอ่านจากข่าวหรือภาพข่าวที่สื่อมวลชนอื่นๆ ได้นำเสนออย่างแน่นอน
สอดรับกับความเห็นของฝ่ายบริหาร ทั้งจาก…นายฟาง เจิ้ง ฮุย รองผู้อำนวยการ CIPG และมาดามจ้าว จุน หัวหน้ากองบรรณาธิการ CHINA REPORT (ปักกิ่ง) ที่ระบุตรงกันว่า การจัดงานในลักษณะนี้ (China Trip by CIPG) จะต้องมีขึ้นในปีต่อๆ ไป และอาจมีบางครั้งที่จัดโครงการเพิ่มเติม ด้วยการพาสื่อมวลชนจีนมาเยี่ยมเยือนชาติอาเซียน.