ราคาอาหารในจีนพุ่ง
ผู้บริโภคในจีนเริ่มรู้สึกได้ว่าราคาอาหารปรับเพิ่มสูงขึ้นมากจากหลายปัจจัย โดยปัจจัยสำคัญคือสภาพอากาศที่เลวร้ายและโรคภัยที่ทำให้ซัพพลายลดวูบ
ทางการจีนพยายามบรรเทาความกังวล โดยระบุว่าจะยกระดับการกำกับดูแล รวมถึงการรับประกันซัพพลายอาหาร เช่น ผลไม้ ผัก และเนื้อสัตว์
ราคาผลไม้สดพุ่งพรวดขึ้นถึง 27% ในเดือนพ.ค.เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยผู้บริโภคคนหนึ่งนามสกุลลู่ระบุว่า ผู้บริโภคจำนวนมากพยายามหลีกเลี่ยงไม่ซื้อสินค้าที่มีราคาแพงขึ้น
“ ในปีนี้ โดยเฉพาะแอปเปิลและลูกแพร์ มีราคาแพงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับหลายปีก่อน” หลี่ฮงหยาน ซึ่งเป็นเจ้าของร้านแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งให้ข้อมูล “ ราคาแพงขึ้นเพราะมีของน้อยลง”
ผลไม้ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เลวร้ายในหลายพื้นที่ของจีน และหลายธุรกิจได้รับผลกระทบเช่นกัน เขาเสริม
โดยเขากล่าวว่า ขณะที่ร้านเคยขายแอปเปิล 3 ลังต่อวัน ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ลดลงมาเหลือแค่ 1 ลังต่อวัน และผลไม้ไม่ใช่สินค้าที่ราคาพุ่งขึ้นเพียงอย่างเดียว
ราคาเนื้อหมูก็ปรับขึ้นถึง 18% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบกับปีก่อน หลังจากเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่คือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
จีนใช้เนื้อหมูเป็นส่วนผสมในอาหารหลากหลายเมนู เฉพาะจีนประเทศเดียวก็บริโภคเนื้อหมูประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณการบริโภคเนื้อหมูทั้งหมดของโลก
แต่หมูกว่า 1 ล้านตัวถูกกำจัดเนื่องจากอาจมีเชื้อโรคอหิวาต์ และคาดว่ามีการลดการผลิตด้วย ทำให้ราคาเนื้อหมูอาจพุ่งแบบก้าวกระโดดถึง 70% ได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้
ราคาอาหารที่แพงขึ้นเป็นประเด็นที่อ่อนไหวสำหรับจีน การเติบโตของรายได้ชะลอตัว ขณะที่มีความกังวลมากขึ้นเรื่องการว่างงาน ท่ามกลางความตึงเครียดในสงครามการค้ากับสหรัฐฯ
“ สำหรับชนชั้นกลางและผู้มีรายได้น้อย การได้รับประทานเนื้อหมูเป็นเรื่องสำคัญมาก” แดน หวัง นักวิเคราะห์ที่ Economist Intelligence Unit ให้ความเห็น
“ สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือเราอาจเห็นความไร้เสถียรภาพในตลาด และประชาชนจะไม่พอใจกับความจริงที่ว่าพวกเขาไม่อาจบริโภคได้มากเท่าที่ต้องการ”
“ แล้วก็จะมีคำโฆษณาชวนเชื่อที่พยายามจะโน้มน้าวให้ผู้คนหันมาบริโภคเนื้อวัวแทนเนื้อหมู โดยให้เหตุผลว่าจะมีสุขภาพที่ดีกว่า และอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเมนูอาหารด้วย”
ผู้บริโภคจำนวนมากเปลี่ยนจากเนื้อหมูไปหาทางเลือกอื่น โดยเจ้าของร้านขายเนื้อหมูแห่งหนึ่งระบุว่า ลูกค้าเปลี่ยนไปซื้อเนื้อวัวหรือเนื้อแกะแทน ทำให้ราคาเนื้อสัตว์อื่นๆก็แพงขึ้นด้วย
ธนาคารโลกแสดงความกังวลว่า ราคาอาหารที่แพงขึ้นอาจส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจจีนที่กำลังชะลอตัว
“ มีผลกระทบกับครอบครัวที่ใช้จ่ายเงินส่วนใหญ่จากรายได้ไปกับอาหาร ราคาอาหารที่แพงขึ้นจะส่งผลกับสินค้าและบริการอื่นๆ และยิ่งส่งผลซ้ำเติมกับดีมานด์ในประเทศที่อ่อนแอลงอยู่ก่อนแล้ว” Elizia Mileva นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสที่ธนาคารโลกระบุ.