แจ็ค หม่าป้องการทำงานหนัก
แจ็ค หม่า มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งอาลีบาบากรุ๊ปกล่าวปกป้องวัฒนธรรมการทำงานล่วงเวลาในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จำนวนมาก โดยระบุว่า เป็นพรอันยิ่งใหญ่สำหรับคนทำงานอายุน้อย
โดยมหาเศรษฐีเจ้าของอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนให้น้ำหนักกับสมดุลของชีวิตการทำงาน และการทำงานล่วงเวลาที่หลายบริษัทเรียกร้องกับพนักงาน แต่ในปัจจุบัน ภาคส่วนเทคโนโลยีชะลอตัวหลังจากหลายปีของการเติบโตแบบก้าวกระโดด
ในการกล่าวสุนทรพจน์กับพนักงานของอาลีบาบา หม่ากล่าวปกป้องการทำงานแบบ ‘996’ ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งก็คือการทำงานตั้งแต่เวลา 9.00 – 21.00 น. ตลอด 6 วันต่อสัปดาห์
“ โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าการสามารถทำงานแบบ 996 ได้เป็นพรอันยิ่งใหญ่” เขากล่าวและมีการโพสต์บนบัญชี WeChat ของบริษัท
“ หลายบริษัท และหลายคนไม่มีโอกาสที่จะทำงานแบบ 996” หม่ากล่าว “ หากคุณไม่ทำงานแบบ 996 ตั้งแต่อายุยังน้อย แล้วคุณจะทำงานแบบ 996 ได้เมื่อไร ? ”
ประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นร้อนที่มีการดีเบตกันในโลกออนไลน์ และมีการประท้วงในบางแพลตฟอร์ม ซึ่งพนักงานได้ยกตัวอย่างจากบางบริษัทที่มีการเรียกร้องการทำงานล่วงเวลาของพนักงานมากเกินไป
โดยหม่า ซึ่งเป็นอดีตครูสอนภาษาอังกฤษและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอาลีบาบาในปี 42 และได้กลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกระบุว่า เขาและพนักงานรุ่นแรกๆทำงานหนักเป็นเวลานานเป็นประจำ
“ ในโลกนี้ ทุกคนอยากประสบความสำเร็จ อยากมีชีวิตที่ดี อยากมีเกียรติ” หม่ากล่าว
“ ผมขอถามทุกคนว่า หากคุณไม่ทุ่มเทเวลาและพลังกายใจมากกว่าคนอื่น คุณจะประสบความสำเร็จอย่างที่ต้องการได้อย่างไร ? ”
หม่าได้กล่าวถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในปัจจุบันซึ่งหลายคนไม่มีงานทำ หรือทำงานในบริษัทที่พยายามไขว่คว้าหารายได้ หรือกำลังปิดตัว
“ เมื่อเปรียบเทียบกับพวกเขา ในวันนี้ ผมยังรู้สึกโชคดี ผมไม่รู้สึกเสียดายที่ทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน ผมจะไม่เปลี่ยนในส่วนนี้ของผม” เขากล่าว
ในเดือนเม.ย.นี้ นักเคลื่อนไหวบน GitHub ของ ไมโครซอฟต์ ซึ่งเป็นพื้นที่เก็บข้อมูลโค้ดออนไลน์ได้นำเสนอโครงการที่มีชื่อว่า “996.ICU” ซึ่งพนักงานด้านเทคโนโลยีมีการระบุชื่ออาลีบาบาอยู่ในบรรดากลุ่มบริษัทที่ถูกจัดอันดับว่ามีบรรยากาศการทำงานย่ำแย่ที่สุด
เมื่อวันที่ 11 เม.ย.มีบทความสะท้อนความเห็นชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของรัฐที่โต้แย้งว่า 996 เป็นการละเมิดกฎหมายแรงงานของจีน ซึ่งกำหนดว่าชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
“ การสร้างวัฒนธรรมของบริษัทที่เน้นการทำงานล่วงเวลา ไม่เพียงไม่ช่วยความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ แต่เป็นการยับยั้งและทำลายความสามารถในการสร้างนวัตกรรมของบริษัทด้วย ” ผู้เขียนนิรนามเขียนในหนังสือพิมพ์พีเพิลเดลี่.