จีนมุ่งเป็นสังคมไร้เงินสดแห่งแรกของโลก
ปักกิ่ง – จีนเป็นประเทศที่อยู่ในช่วงการแข่งขันเพื่อเป็นสังคมไร้เงินสดแห่งแรกในโลก
จากข้อมูลในปี 60 มากกว่า 3 ใน 4 ของพลเมืองชาวจีนใช้ระบบการจ่ายเงินแบบดิจิทัลมากกว่าใช้เงินสด และจำนวนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบัน ธนาคารกลางและสถาบันการเงินของจีนประกาศว่าต้องการจะกระจายประโยชน์จากระบบไร้เงินสดไปสู่ประชากรชาวจีน 4 ใน 10 คนซึ่งอาศัยอยู่ในชนบท
ในระดับโลก จีนยังคงตามหลังสวีเดน ซึ่งตั้งเป้าเป็นสังคมไร้เงินสดภายในปี 66 อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการจ่ายเงินแบบไร้เงินสดในจีนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับจำนวนของประชากรโดยรวม
ที่ผ่านมา จีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากวิวัฒนาการของบัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้รุดหน้าในศตวรรษที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ คนจีนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีสมาร์ทโฟนในการจ่ายเงินแบบไร้เงินสด
จีนได้กลายเป็นตลาดการจ่ายเงินผ่านสมาร์ทโฟนที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว และยังเป็นผู้นำในการจ่ายเงินให้กันและกันผ่านข้อความอีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมไร้เงินสดในจีนจะช่วยเกษตรกรให้สามารถซื้อสิ่งจำเป็นอย่างปุ๋ย และเข้าถึงการกู้ยืมได้ง่ายขึ้น โดยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบาและ JD ได้จัดตั้งระบบออนไลน์ที่ช่วยเกษตรกรในการซื้อและขาย
อ้างอิงจากข้อมูลของธนาคารกลาง ประชากรชาวจีน 66.5% ในชนบทใช้การจ่ายเงินแบบดิจิทัลในปี 60 แต่ในส่วนของประเทศจีนทั้งหมด ตัวเลขอยู่ที่ 76.9%
โดยในบรรดาประโยชน์จากการเปลี่ยนไปสู่การจ่ายเงินแบบดิจิทัลคือการทำธุรกรรมที่รวดเร็วขึ้นลดความเสี่ยงทางธุรกิจ และลดโอกาสอาชญากรในการหลอกลวงผู้อื่น
จีนอาจกำลังนำไปสู่สังคมไร้เงินสด แต่ธนาคารกลางยังคงไม่พร้อมที่จะยกเลิกการใช้เงินสดโดยสิ้นเชิง
ในปีที่แล้ว ธนาคารออกโรงกระตุ้นผู้ขายตามร้านค้าและผู้ให้บริการอย่าเลือกปฏิบัติกับลูกค้าที่ต้องการจ่ายด้วยเงินสด “ มีการปฏิเสธเงินสดจากลูกค้าในสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านค้าปลีกและอุตสาหกรรมอื่น” ธนาคารระบุในคำประกาศ “ เรื่องนี้ทำลายสถานะทางกฎหมายของเงินหยวน และทำร้ายสิทธิของผู้บริโภคในการเลือกวิธีการจ่ายเงิน”
สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคทั้งหมดควรตระหนักคือ ไม่ว่าจะเป็น เงินสด หรือไร้เงินสด เป็นความคิดที่ดีที่คุณจะไม่ใช้จ่ายเงินในส่วนที่คุณไม่มี
เป็นเรื่องง่ายที่จะรูดบัตร หรือแตะกดจ่ายเงินผ่านสมาร์ทโฟนเพื่อซื้อเสื้อผ้าใหม่ที่เพิ่งเห็นจากหน้าร้าน หรือซื้อกาแฟสักแก้วในระหว่างทางเดินไปทำงาน คุณจะไม่เห็นเงินในกระเป๋าสตางค์พร่องไป แต่ที่จริงแล้ว เงินก็หายไปเหมือนกัน.