ปีหมู ชวนกินหมูน้อยลงเพื่อสิ่งแวดล้อม
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2019/10/1-18.jpg)
ชาวจีนฉลองเทศกาลตรุษจีนในสัปดาห์นี้ ทำให้นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชูแคมเปญให้ทุกคนลดการบริโภคเนื้อหมูให้น้อยลงเพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
จีนเป็นประเทศที่บริโภคเนื้อหมูมากกว่าประเทศอื่น และคิดเป็นครึ่งหนึ่งของปริมาณการบริโภคเนื้อหมูทั้งหมดในโลก เนื่องจากชาวจีนใช้เนื้อหมูในการปรุงอาหารหลากหลาย ตั้งแต่เป็นไส้เกี๊ยว ใส่ในผัดต่างๆ ไปจนถึงหม้อไฟ
ซึ่งทำให้จีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากที่สุดจากข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โดยการบริโภคเนื้อสัตว์คิดเป็นประมาณ 14.5% ของการปล่อยมลพิษในโลก
“ การปล่อยมลพิษของจีนสามารถลดลงได้เกือบ 10% ในทศวรรษหน้า หากประชาชนชาวจีนลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ลงครึ่งหนึ่ง” Jen Leung ผอ.ฝ่ายสภาพอากาศที่องค์การการกุศล WildAid ในสหรัฐฯให้ข้อมูล “ เพียงแค่พยายามกินเนื้อหมูให้น้อยลงเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองปีกุนอย่างคนที่มีสุขภาพดี ” เธอกล่าวกับมูลนิธิธอมสันรอยเตอร์
12 ปีนักษัตรตามประเพณีจีนดั้งเดิมประกอบด้วยสัตว์ 12 ชนิด และในสัปดาห์นี้ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านจากปีจอเข้าสู่ปีกุน ตามความเชื่อของชาวจีน
เทศกาลวันหยุดช่วงตรุษจีนที่ยาวนานหนึ่งสัปดาห์เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 4 ก.พ. ซึ่งเป็นวันไหว้ และเป็นวันที่สำคัญที่สุดในปฏิทินของจีน ก่อนที่ชาวจีนหลายล้านคนจะเริ่มเดินทางกลับบ้านในวันรุ่งขึ้น
ในฮ่องกง ซึ่งมีร้านอาหารที่มีชื่อเสียงด้านติ่มซำและหมูหัน มีบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นหุ้นส่วนร้านอาหารได้โปรโมทเทศกาลตรุษจีนด้วยเมนูอาหาร ‘หมูมังสวิรัติ ’ ที่ทำจากถั่วเหลืองและถั่ว
“ ความเชื่อดั้งเดิมชี้ว่าเราไม่ควรกินเนื้อสัตว์ที่เป็นสัตว์ชนิดเดียวกันกับปีนักษัตรเพื่อนำโชคดีมาสู่เรา ดังนั้นปีหมู จึงไม่ควรกินเนื้อหมู” Alvin Lee ผู้จัดการฝ่ายการตลาดที่ Green Monday ซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ส่งเสริมชีวิตที่ยั่งยืนระบุ
“ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ประเด็นด้านความปลอดภัยทางอาหาร และช่วยในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ” เขากล่าวโดย
อ้างถึงโรคระบาดจากหมูในฟาร์มที่แอฟริกาที่ทำให้เสียชีวิตได้ในจีน
บนเว่ยป๋อ ซึ่งเป็นเหมือนทวิตเตอร์ของจีน กลุ่มสิทธิสัตว์ออกแคมเปญเพื่อให้ตระหนักถึงหมูซึ่งเป็นสัตว์ที่ร่าเริง มีชีวิตชีวา ด้วยการติดแฮชแทก #PigYearDontEatThem
ตั้งแต่ปี 2559 จีนได้ออกประกาศคำแนะนำให้ประชาชนลดปริมาณการบริโภคเนื้อหมูลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น
“ เป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะตามธรรมเนียมจีนดั้งเดิม มีความเชื่อด้านความมั่งคั่งและสถานะของคนที่มีโอกาสได้กินเนื้อสัตว์”
Beau Damen ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ FAO ในกรุงเทพฯ กล่าวกับมูลนิธิธอมสันรอยเตอร์ “ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคต้องตระหนักคือทางเลือกในสิ่งที่เรากินมีผลกระทบโดยตรงกับสิ่งแวดล้อม” เขาเตือน.