หลายเหตุผลที่หญิงจีนไม่มีลูกคนที่ 2

การขาดความช่วยเหลือจากครอบครัว และความก้าวหน้าในอาชีพน้อยลง เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงจีนไม่ยอมมีบุตรคนที่ 2 อ้างอิงจากข้อมูลที่รวบรวมจากซินาเว่ยป๋อ ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียในจีน
จากการวิเคราะห์โพสต์จากปี 2556 – 2561 พบว่า ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันเรื่องการมีบุตรคนที่ 2 ที่เปลี่ยนจากความกังวลด้านค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจมาเป็นความกังวลของบรรดาแม่ๆที่สามีไม่ยอมช่วยเหลือในการเลี้ยงดูลูกและอาชีพการทำงานที่ไม่ก้าวหน้า
ในปี 2556 ส่วนใหญ่จะโพสต์ในทำนองว่า “ ในเซี่ยงไฮ้ หลังจากเด็กคนหนึ่งเกิดมา ก็จะมีเรื่องอื่นตามมาอีก อย่างอพาร์ทเมนต์ที่ต้องมีอย่างน้อย 3 ห้องนอนและค่าใช้จ่ายในการเรียนของลูกที่แพง บวกกับการเลี้ยงดูพ่อแม่สี่คน และรถยนต์อีกคันหนึ่งคัน มันน่ากลัวมาก”
อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 ความกังวลเรื่องสุขภาพลูกและแม้แต่แม่เองว่าจะได้รับการช่วยเหลืออย่างเพียงพอจากสามีของพวกเธอ กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจว่าจะมีบุตรคนที่ 2 หรือไม่
โดยผลสำรวจออนไลน์ Social Mentality Survey ที่จัดทำโดย Centre for Communication and State Governance Research และ Centre for Social Governance Research ที่มหาวิทยาลัยฟูตัน ด้วยการสำรวจแบบสุ่มจาก 275 ล้านโพสต์
การมีลูกคนที่ 2 เป็นประเด็นฮอตสำหรับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะหลังจากจีนได้ประกาศใช้นโยบายลูก 2 คนในปี 2559
“ อินเทอร์เน็ตเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ผู้คนมาแสดงความคิดเห็น เป็นพื้นฐานของการวิจัยทางสังคมบนมุมมองของประชาชนผ่านการวิเคราะห์ big data” กุยหยง หัวหน้าทีมในโครงการนี้ เขายังเป็นนักวิจัยจาก Centre for Communication and State Governance Research ด้วย
นอกจากนี้ การวิเคราะห์พบว่า ชาวเน็ตส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าผู้หญิงต้องใช้ความพยายามมากขึ้นอีกในการเลี้ยงดูลูกคนที่ 2 และหวังว่าผู้ชายจะมีความรับผิดชอบในการช่วยเลี้ยงดูลูกมากขึ้น
ทั้งนี้ จีนรายงานจำนวนทารกเกิดใหม่ 15.23 ล้านคนในปี 2561 เมื่อเทียบกับตัวเลข 17.23 ล้านคนในปี 2560 และ 17.86 ล้านคนในปี 2559 อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากจำนวนเด็กเกิดใหม่เหล่านี้ มากกว่าครึ่งเป็นลูกคนที่ 2
จำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงก่อให้เกิดความกังวล เนื่องจากตัวเลขที่รัฐบาลคาดหวังหลังประกาศใช้นโยบายลูก 2 คนคืออย่างน้อย 20.23 ล้านคนในปี 2560 และ 19.82 ล้านคนในปี 2561
“ ผลสำรวจเผยให้เห็นปัจจัยสำคัญในการปรับปรุงการปฏิบัติตามนโยบายลูก 2 คนของจีน รวมทั้งการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ครอบครัวและการสนับสนุนทางสังคมในการมีลูกคนที่ 2” หวงหรงกุย นักสังคมวิทยาประจำมหาวิทยาลัยฟูตันกล่าว
“ ผลสำรวจยังเกี่ยวพันกับนโยบายราคาบ้าน การศึกษา และระบบประกันสังคมสำหรับผู้หญิงด้วย” รศ.หวงระบุ.