ผู้ปกครอง LGBT ในจีนท้าทายแนวคิดเก่า
ผู้คนต่างให้ความสนใจ เมื่ออัน ฮุย และเย่ เจี้ยนปินเดินไปบนถนนที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีนพร้อมกับลูกแฝด 3 ของพวกเขา โดยเด็กทั้ง 3 คนเกิดจากความช่วยเหลือจากผู้บริจาคไข่ และแม่อุ้มบุญ
นายอัน ผู้จัดการด้านการลงทุน วัย 33 ปี ระบุว่า ผู้คนส่วนใหญ่มักจะสงสัยเกี่ยวกับครอบครัวของพวกเขาที่ไม่เหมือนครอบครัวตามปกติทั่วไป โดยเขาเสริมว่า ไม่บ่อยนักในจีนที่คู่รักชาวเกย์จะมีครอบครัวแบบนี้ โดยเหล่าคู่รักเกย์ต้องต่อสู้กับความเชื่อแบบขงจื๊อโบราณที่มีอยู่คู่ประเทศจีนมาตลอด
เขาให้สัมภาษณ์กับทางรอยเตอร์ ในออฟฟิศของเขาที่ย่านการเงินของเซินเจิ้นว่า “ผมโชคดีเพราะผมโตขึ้นในประเทศจีนที่อยู่ในช่วงกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สังคมสมัยนี้เปิดกว้างขึ้นกว่าเดิมมาก”
นายอันระบุว่า เขาได้เจอกับคู่รักของเขาหรือนายเย่ เมือปี 2551 “ถ้าผมเกิดในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ผมคงตายไปแล้ว”
ชายทั้งคู่ต้องการครอบครัวและได้เริ่มค้นหาตัวเลือกของเด็กหลอดแก้ว (IVF) พร้อมความช่วยเหลือจากผู้บริจาคไข่และผู้ตั้งครรภ์แทน
จากข้อมูลของนายอัน ในปี 2557 หญิงชาวไทยให้กำเนิดเด็กผู้ชาย 3 ราย อัน จื้อจง อัน จื้อหยา และอัน จื้อเฟย โดยเด็กทั้ง 3 เกิดจากไข่ที่ได้รับมาจากนางแบบในวงการแฟชั่นชาวเยอรมัน
เขาปฏิเสธที่จะระบุถึงหญิงอุ้มบุญ หรือบริษัทรับจ้างอุ้มบุญที่เป็นผู้ดูแลขั้นตอนทั้งหมด ประเด็นการที่เลสเบี้ยนหรือเกย์ เข้าถึงการสร้างทายาทด้วยการช่วยเหลือทางการแพทย์ อย่างเด็กหลอดแก้ว ได้ก่อให้เกิดการโต้เถียงในทางการเมืองในหลายประเทศ โดยรวมถึงประเทศที่เพิ่งมีประเด็นไม่นานมานี้อย่างฝรั่งเศส และอิสราเอล
หยานซี เผิง ผู้นำกลุ่มทนายด้านสิทธิเพื่อชาว LGBT ในจีนที่มีฐานของกลุ่มในเมืองกว่างโจว ระบุว่า รัฐบาลจีน ยังไม่แสดงท่าทีชัดเจนเกี่ยวกับกลุ่ม LGBT ภายในประเทศ
เผิง ระบุว่า “คำที่อธิบายเกี่ยวกับแนวคิดของรัฐบาลจีนได้ดีมากที่สุดคือ ‘เพิกเฉย’” เขาเสริมว่า “มันยากที่จะบอกได้ถึงแนวคิดจริง ๆ ของรัฐบาล ทางรัฐบาลไม่ได้ต่อต้านชุมชน LGBT ในทันที เพราะนั่นเท่ากับว่าพวกเขาจะต่อต้านแนวคิดสากลเกี่ยวกับประเด็นนี้”
ด้านทนายรายอื่น ๆ เพื่อชุมชนชาว LGBT ระบุว่า ประเทศจีนควรจะผ่อนปรนกฎหมายที่ควบคุมจำนวนบุตรของคู่รักชายหญิง
ปิน ซู ผู้นำกลุ่มสิทธิเพื่อชาว LGBTI+ ที่มีฐานในปักกิ่งระบุว่า “คู่รักเพศเดียวกัน ไม่มีทางที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตรได้อย่างถูกกฎหมายเลย ผู้คนจำนวนมากต้องเดินทางไปยังต่างประเทศเพื่อจ่ายเงินจำนวนสูงมากจึงจะมีลูกได้”
เมื่อปี 2559 ทางจีนได้อนุญาตให้คู่สามีภรรยามีลูกคนที่ 2 ได้ โดยได้ผ่อนปรนกฎหมายที่ใช้มาเป็นเวลานานถึง 40 ปี ทางสื่อของจีนระบุว่า ในปีนี้ รัฐบาลกำลังตัดสินใจว่าจะยกเลิกการควบคุมจำนวนบุตรทั้งหมดที่ครอบครัวจะสามารถมีได้
นายอันระบุว่า “ในจีน ผู้คนมักบอกว่า ครอบครัวคือสายสัมพันธ์ระหว่างหญิงและชาย แต่มันก็ไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป”
“ถ้าชายโสดมีลูก หญิงโสดมีลูก ผู้ชาย 2 คนมีลูก ผู้หญิง 2 คนมีลูก พวกเขาเหล่านี้ก็มีครอบครัวเป็นของตัวเอง ครอบครัวต้องการความรักถึงจะเป็นครอบครัวได้ มันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องเพศเลย”