จีนระงับงานนักวิทย์ตัดต่อยีนทารก
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ทางการจีนระบุว่า ได้ระงับงานของนักวิทยาศาสตร์ที่อ้างว่าเขาได้สร้างสรรค์ทารกที่เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรมเป็นครั้งแรกของโลก โดยระบุว่าการกระทำของเขาถือเป็นเรื่องผิดจรรยาบรรณและละเมิดกฎหมายของจีน
ดร.เหอเจียนกุย ประกาศเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ว่า เขาได้ใช้เทคนิคตัดต่อพันธุกรรม Crispr เพื่อปรับเปลี่ยนตัวอ่อน และนำไปฝังในมดลูกของสตรีผู้ให้กำเนิดทารกแฝดหญิงในเดือนนี้ ในการประชุมนานาชาติเมื่อวันที่ 28 พ.ย. เขายืนยันว่ารู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่เขาทำ
ขณะที่ซูหนานปิง รมช.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนระบุว่า งานของดร.เหอยังคงถูกสอบสวนอยู่ แต่จากรายงานข่าว เขากล่าวว่า ดร.เหอดูจะ “ ละเมิดกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน” และทำลาย “ บรรทัดฐานทางศีลธรรมและจริยธรรมที่ชุมชนวิชาการควรปฏิบัติ” สถานี CCTV รายงานเมื่อวันที่ 29 พ.ย.
“ เป็นเรื่องที่ช็อกและยอมรับไม่ได้” รมช.ซูกล่าว “ เราขอคัดค้านเรื่องนี้อย่างเต็มที่”
มีการสั่งระงับผลงานของดร.เหอ หลังจากถูกประณามจากนักวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติซึ่งชี้ว่า การกระทำของดร.เหอผิดจริยธรรม โดยพวกเขาระบุว่า มีคำถามที่ไม่มีคำตอบเกี่ยวกับความปลอดภัยของการตัดต่อตัวอ่อน และมีความจำเป็นที่ต้องให้แน่ใจว่า เป็นการกระทำที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อมิให้มีการนำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ผิด
โดยรมช.ซูกล่าวก่อนหน้านี้ว่า กฎหมายของจีนที่ออกมาในปี 2546 อนุญาตให้มีการทดลองตัดต่อพันธุกรรมตัวอ่อนเพื่อจุดประสงค์ในการทำวิจัย แต่ตัวอ่อนจะมีชีวิตอยู่และเจริญเติบโตได้ไม่เกิน 14 วัน
เมื่อวันที่ 26 พ.ย. กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จีน 122 คนได้ออกแถลงการณ์ที่เรียกการกระทำของดร.เหอว่า “บ้า” และการกล่าวอ้างของเขาว่า“ เป็นการทำลายชื่อเสียงและการพัฒนาของวงการวิทยาศาสตร์จีนในระดับโลก”
ในการประชุมนานาชาติครั้งที่ 2 ของ Human Genome Editing ที่ฮ่องกงเมื่อวันที่ 28 พ.ย. ดร.เหอชี้แจงว่า เขาไม่ได้แจ้งกับทางมหาวิทยาลัยของจีนถึงงานวิจัยที่เขากำลังทำอยู่ เขากล่าวว่าเขาใช้เงินทุนส่วนตัวในช่วงเริ่มทำวิจัย หลังจากนั้นจึงได้ทุนอุดหนุนจากทางมหาวิทยาลัย
เขาโต้แย้งคำกล่าวที่ว่าเขาทำการวิจัยอย่างลับๆ โดยเขาระบุว่า เขาได้นำเสนอเบื้องต้นในที่ประชุม และมีการปรึกษากับนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ และที่อื่นๆ เขาเสริมว่าเขาได้ยื่นเสนอการวิจัยของเขากับทางวารสารวิทยาศาสตร์เพื่อให้มีการพิจารณา และไม่ได้คาดหวังว่าจะนำเสนอในการประชุม โดยเขามีกำหนดต้องพูดในการประชุมอีกครั้งในวันที่ 29 พ.ย. แต่ถูกยกเลิกไปก่อน
ดร.Robin Lovell – Badge ศาสตราจารย์ด้านพันธุกรรมและตัวอ่อนที่ Francis Crick Institute ในกรุงลอนดอน ซึ่งพูดอย่างเป็นกลางในการประชุมเมื่อวันที่ 28พ.ย. ระบุในอีเมลว่า “ เป็นเรื่องยากที่จะมีความปลอดภัยเพียงพอ” ในการพูดครั้งที่ 2 เขากล่าวว่า ดร.เหอตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุม หลังจากมีผู้แจ้งเกี่ยวกับการจัดการด้านความปลอดภัย
โดย ศ.Lovell – Badge ระบุเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ว่า ทางผู้จัดงานรู้สึกว่า “เป็นเรื่องสำคัญที่จะให้ดร.เหอได้นำเสนอในสิ่งที่เขาได้ทำ”
“ ดังนั้น เราจึงไม่เสียใจที่ให้เขาได้นำเสนอเมื่อวาน แต่ให้โอกาสครั้งที่ 2 กับเขาในวันนี้ เพื่อทบทวนพิจารณาในการสนับสนุนเขา”
“ นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่คณะกรรมการไม่อยากให้เขากลับมาในวันนี้”.