SME จีนดิ้นหนักขอสินเชื่อ
จีนจำเป็นต้องแก้ปัญหาหนี้ของประเทศ ซึ่งประเมินว่ามีมูลค่าสูงกว่า 3 เท่าของขนาดเศรษฐกิจ ให้อยู่ในการควบคุมให้ได้
แต่ความพยายามเหล่านั้นสร้างภาระให้กับภาคส่วนสำคัญ คือธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งเป็นด่านหน้าของสงครามการค้าที่กำลังดำเนินอยู่กับสหรัฐฯ
บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางเป็นส่วนสำคัญของบริษัทในจีนและเป็นผู้จ้างงานรายสำคัญ แต่ต้องแข่งกับกิจการยักษ์ใหญ่ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของในการขอสินเชื่อจากธนาคาร ความสำคัญอีกอย่างคือ บริษัทขนาดเล็กเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนที่มีบทบาทสำคัญในการส่งออกของจีน และมีความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐฯ
ความพยายามของจีนที่จะลดจำนวนหนี้ทำให้ธุรกิจขนาดเล็ก “ ดิ้นรนอย่างหนักเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินที่จะเป็นเงินทุนในการทำงานและความจำเป็นในการขยับขยายธุรกิจในระยะยาว” Coface ซึ่งเป็นบริษัทรับประกันภัยสินเชื่อทางการค้าจากฝรั่งเศส ระบุในรายงานเมื่อวันที่ 20 พ.ย.
ส่วนประกอบสำคัญของแคมเปญการลดหนี้ตามเป้าหมายของจีนที่เรียกว่า ระบบธนาคารเงา ซึ่งเป็นเครือข่ายการให้ยืมเงินที่ดำเนินการนอกภาคธนาคารทางการ และมุ่งลดระดับการตรวจสอบ และมีความเสี่ยงสูงขึ้น ( ธนาคารเงาเน้นช่องทางทำกำไรจากการปล่อยสินเชื่อในส่วนที่ธนาคารมองข้าม หรือละเลยไม่สนใจ)
อย่างไรก็ตาม การคุมเข้มการปล่อยสินเขื่อของรัฐบาลจีนส่งผลลบกับธุรกิจ SME อ้างอิงจากรายงานของ Coface
“ ระบบธนาคารเงาลิดรอนโอกาสของ SME ไม่ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนที่มีค่า รวมถึงแหล่งเงินทุนที่มีระยะเวลาให้กู้ยาวนานกว่า” Carlos Casanova นักเศรษฐศาสตร์เอเชีย – แปซิฟิกที่ Coface ประจำฮ่องกงระบุในรายงาน
เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและสงครามการค้าบีบให้ทางการจีนลดระดับการต่อสู้กับหนี้ลงเพื่อพยุงการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่บริษัทขนาดเล็กยังประสบกับความยุ่งยากของระบบในการเข้าถึงสินเชื่อธนาคาร Casanova ระบุ โดยเขายกตัวอย่างว่า ความต่างของอัตราดอกเบี้ยทำให้ธนาคารลังเลใจที่จะให้สินเชื่อกับบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงกว่ารัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รองนายกรัฐมนตรีหลิวเหอ กล่าวกับสื่อว่า SME ต้องการความช่วยเหลือ
“ เราต้องให้ความสนใจกับความยุ่งยากที่ธุรกิจ SME ต้องเผชิญ และต้องออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือพวกเขา” รองนายกฯหลิวกล่าว
ทำให้มีการประชุมในวันที่ 1 พ.ย. ระหว่างประธานาธิบดีสีจิ้นผิงและตัวแทนจากหลายบริษัท โดยในการประชุม ผู้นำจีนให้คำมั่นว่าจะมีมาตรการสนับสนุน รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
การเข้ามาแทรกแซงของรัฐบาลในครั้งนี้ ทำให้นักลงทุนขานรับด้วยความพอใจ
“ เป็นการเปลี่ยนเกม เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งสัญญาณว่า รัฐบาลจีนเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนภาคเอกชน ในเชิงสัญลักษณ์ เป็นการส่งสารจากระดับสูง” วิลเลียม หม่า หัวหน้าเจ้าหน้าที่ลงทุนที่ Noah Holdings ในฮ่องกงระบุ.