สงครามการค้าบีบโรงงานย้ายหนีจีน
มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ทำให้หลายบริษัทต้องย้ายโรงงานผลิตออกจากจีน แต่คงไม่ใช่อย่างที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์หวังว่าจะย้ายไปสหรัฐฯ อยู่ดี
สงครามการค้าทำให้สินค้าส่งออกของจีนมูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีราคาแพงขึ้นสำหรับชาวอเมริกัน ตั้งแต่เข็มขัดหนังไปจนถึงตู้เย็นและรถจักรยานยนต์ อุปสรรคที่เกิดขึ้นทำให้ภาคส่วนที่ถูกกระทบมากที่สุดคือผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรม และสินค้าแฟชั่นแบรนด์ที่กำลังหาทางย้ายไลน์การผลิตออกจากจีน
“ มีการสอบถามเข้ามาไม่หยุดเลย มันเกิดขึ้นหลังสงครามการค้า ” วิลเลียม หม่า กรรมการผู้อำนวยการกลุ่มของ Kerrry Logistics ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติฮ่องกงที่ช่วยบริษัททั่วโลกในการจัดการซัพพลายเชนระบุ
หลายบริษัทยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการในจีนต่อไป เนื่องจากเป็นตลาดในประเทศขนาดยักษ์ใหญ่และมีความได้เปรียบ ไม่อยากต้องดิ้นรนหาสถานที่อื่น แต่หลายบริษัทที่กำลังดำเนินการย้าย กลับไม่ได้สนใจจะย้ายไปสหรัฐฯ แต่มุ่งย้ายไปประเทศในเอเชียมากกว่า
จากการสำรวจล่าสุดโดยหอการค้าอเมริกันในจีนทั้งสองแห่งชี้ว่า 1 ใน 3 ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามระบุว่าพวกเขากำลังจะย้ายไลน์การผลิตออกจากจีนเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า มีเพียง 6% ที่ระบุว่า กำลังพิจารณาย้ายธุรกิจกลับไปที่สหรัฐฯ
ในบางอุตสาหกรรม มาตรการภาษีเร่งให้มีการย้ายการผลิตจากจีนไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งค่าแรงถูกกว่า
Steve Madden ซึ่งรายได้จากกระเป๋าถือถูกกระทบจากมาตรการภาษี 10% ระบุว่ากำลังจะย้ายฐานการผลิตไปกัมพูชาและประเทศอื่นๆ ปัจจุบัน บริษัทผลิตกระเป๋าถือประมาณ 85% ในจีน ซึ่งตัวเลขนี้จะลดลงเหลือ 50% หรือ 60% ในปีหน้า
Hugh Lo รองประธานฝ่ายสินค้าบริโภคที่ New Kingpo Group ของไต้หวัน ซึ่งผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ให้ลูกค้าอย่างโตชิบาและซัมซุง ระบุว่า มีการสอบถามเข้ามามากจากหลายบริษัทที่ต้องการย้ายการผลิตออกจากจีน เมื่อปีก่อน ทีมของเขามีการสอบถามเข้ามาประมาณหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ แต่ตอนนี้ น่าจะประมาณ 30 เท่า
โดย Lo ระบุว่า ผู้ผลิตอุปกรณ์เกมและ TV หลายรายมีความสนใจที่จะย้ายสถานที่ แต่เขาปฏิเสธที่จะให้ชื่อบริษัท
ซัพพลายเออร์อุตสาหกรรมใหญ่ถูกกระทบหนักเช่นกัน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของพวกเขาเป็นเป้าหมายของมาตรการภาษีรอบใหม่
โดย Toshiba Machine ระบุว่า จะย้ายการผลิตอุปกรณ์ขึ้นรูปในเซี่ยงไฮ้ไปประเทศอื่น และผู้ผลิตเครื่องจักรอย่าง Komatsu กล่าวกับ CNN ว่า มีแผนจะย้ายไลน์ประกอบสินค้าไปญี่ปุ่น หรือเม็กซิโก
แต่หลายบริษัทก็ตั้งใจจะอยู่ในจีนต่อไป “ ซัพพลายเชนของพวกเขาไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ในคำสั่งซื้อระยะสั้น ” Harley Seyedin ประธานหอการค้าอเมริกันในจีนทางใต้ระบุ
นอกจากนี้ จีนยังมีถนน ท่าเรือ และระบบไฟฟ้าที่ดีกว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ จีนมีโครงสร้างพื้นฐานที่ยอดเยี่ยม” Nathan Resnick ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ Sourcify ให้ความเห็น “ คุณอาจย้ายไปฟิลิปปินส์ หรือเวียดนาม แต่พื้นที่รอบโรงงานยังไม่ได้พัฒนาเหมือนจีน”
ธุรกิจที่ต้องการย้ายคำสั่งซื้อนอกจีนเผชิญกับอีกหนึ่งปัญหาคือ หาโรงงานในภูมิภาคที่ยอมรับได้
“ผมมีโรงงานที่เราทำงานด้วยในเวียดนามที่เราจองคิวสำหรับปีหน้า ไลน์การผลิตของพวกเขาเต็มหมด ถ้าคุณอยากทำเช่นนั้นจริงๆ ก็ต้องออกตามล่าหาโรงงานที่ยังคงมีกำลังการผลิตเหลืออยู่”