กังวลศก.จีนซบเซากระทบสินค้าหรู
ยอดขายที่เคยแกร่งของแบรนด์ผู้นำสินค้าหรูหราราคาแพงอย่าง LVMH ในไตรมาส 3 ลดลงเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ทำให้เกิดความกังวลว่าดีมานด์ของผู้บริโภคจีนที่มีต่อสินค้าแฟชั่นไฮเอนด์และกระเป๋าถือเริ่มซบเซาลง ส่งผลให้หุ้นของบริษัทร่วงลง
ที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวจีนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของแบรนด์สินค้าหรูทำให้อุตสาหกรรมนี้ฟื้นตัวขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนทำให้ตลาดเฝ้าระวังถึงความเปลี่ยนแปลง
โดยหุ้นของ LVMH ปิดตัวลดลง 7.1% แม้ว่าบริษัทจะรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งเกินคาดการณ์ในธุรกิจเสื้อผ้าและเครื่องหนัง ซึ่งรวมถึงแบรนด์ที่ทำกำไรสูงสุดอย่างหลุยส์วิตตอง และคริสเตียน ดิออร์
บริษัทไม่ให้ความสำคัญนักกับสัญญาณดีมานด์ที่อ่อนแรงลง โดยชี้แจงกับนักวิเคราะห์ว่า สังเกตเห็นการชะลอตัวลงเล็กน้อยจากลูกค้าชาวจีนที่ชื่นชอบแบรนด์หลุยส์ วิตตองในไตรมาสเดือนก.ค. – ก.ย. ด้วยยอดขายที่เติบโตประมาณ 15% แทนที่จะเป็นเกือบ 20%
แต่นักลงทุนเริ่มประเมินไปในอีกหลายเดือนข้างหน้าว่า ภาวะซบเซาจะส่งผลให้สต็อกสินค้าราคาแพงดึงดูดใจผู้บริโภคน้อยลง
“ การดีเบตสำคัญไม่ได้เกี่ยวกับการเติบโตของยอดขายในไตรมาส 3 แต่เป็นเรื่องตัวเลขจากไตรมาส 3 ความเชื่อมั่นในไตรมาส 4 และแนวโน้มของปีหน้า ” นักวิเคราะห์จาก Deutsche Bank ระบุ
หุ้นของ Kering ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์กุชชี่ และเป็นคู่แข่งของ LVMH ปิดตัวลงที่ 9.6% หุ้นของแบรนด์แอร์เมส แบรนด์เบอร์เบอรีของอังกฤษ และแจ็คเก็ตจาก Moncler ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน และความกลัวยังได้แพร่กระจายไปถึงแบรนด์ทิฟฟานี หรือแม้แต่แบรนด์ที่มีราคาแพงน้อยกว่าอย่างไมเคิล คอร์ส์ด้วย
“ ไม่มีอะไรที่กระทบกับสินค้าหรูและ LVMH อย่างเจาะจง โลกเป็นสถานที่ซับซ้อน สกุลเงินมีบทบาทในทุกทิศทาง และรัฐบาลของหลายประเทศกำลังหาทางอยู่รอด และบางครั้งชีวิตของเราก็ยุ่งยากขึ้น” ฌอง -ชาร์คส์ กุยโอนี ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของ LVMH กล่าวในการประชุมทางโทรศัพท์
ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงยิ่งเพิ่มความกังวลให้ตลาดว่า อำนาจการซื้อของนักช้อปชาวจีนจะหายไป ขณะที่คนจำนวนมากยังมีแนวโน้มจะใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายกับสินค้าในระหว่างทริปเที่ยวต่างประเทศ
หลายบริษัทเจ้าของแบรนด์สินค้าหรูยังคงมีการซื้อขายสูงกว่าค่าเฉลี่ยของมูลค่าตลาดในช่วง 12 เดือนล่าสุด หลังจากอุตสาหกรรมสินค้าไฮเอนด์ฟื้นตัวขึ้นจากยอดขายในช่วงสองปีที่ผ่านมา
บริษัทให้บริการทางการเงินอย่าง Morgan Stanley ลดระดับหุ้นของอุตสาหกรรมสินค้าราคาแพงลงมาอยู่ที่ “ลดน้ำหนักการลงทุน” เมื่อวันที่ 10 ต.ค. อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าดีมานด์ลูกค้าจีนจะไม่หายไปอย่างรวดเร็วในชั่วข้ามคืน และนักวิเคราะห์หลายคนระบุว่า ตลาดมีความกังวลมากเกินไป
คนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง และขาช้อปผู้รอบรู้เทคโนโลยีในจีนเป็นแรงหนุนยอดขายสินค้าแบรนด์หรูมากกว่าผู้ที่ซื้อขายเพื่อหวังผลทางธุรกิจ ซึ่งเคยเป็นเป้าหมายของรัฐบาลในการปราบปรามการการติดสินบนด้วยสินค้าราคาแพงและการคอร์รัปชันในปี 2555
“ แนวโน้มความชอบที่จะซื้อของหรูหราจากผู้บริโภคชาวจีนมีสูงกว่าที่ไหนในโลก ” กุยโอนีจาก LVMH กล่าว เนื่องจากลูกค้าสนใจจะลงทุนมากขึ้นในสินค้าไฮเอนด์
“ LVMH และ Kering มีตัวเลขที่น่ามหัศจรรย์มากในหลายปีที่ผ่านมา ถึงแม้แต่วันนี้ ตัวเลขก็ยังคงดีอยู่ ตลาดกำลังหวังว่าการเติบโตอย่างโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมาจะขยายเวลาออกไปอีก 2 – 3 ปี ” Pierre Willot ผู้จัดการกองทุน Montaigne Capital ระบุ.