ส่องเศรษฐกิจจีน
ความอ่อนแรงของเศรษฐกิจจีนเกิดขึ้นในช่วงนี้เนื่องจากจีนกำลังทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ โดยสองประเทศมหาอำนาจต่างมีมาตรการภาษีมูลค่า 50,.000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯกับสินค้านำเข้าของกันและกัน และยังมีคำขู่วาจะมีมาตรการภาษีเพิ่มเติมตามมาอีก
โดย Larry Kudlow ประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ระบุในเดือนส.ค.นี้ว่า เศรษฐกิจจีนดูย่ำแย่ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าประทับใจมาก
จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยมีการเติบโตถึง 6.9% ในปี 2560 อ้างอิงจากตัวเลขรัฐบาล แต่เริ่มชะลอตัวลงในปีนี้ และสัญญาณการอ่อนแรงยังคงมีมากขึ้น โดยตัวเลขทางการในเดือนก.ค.ชี้ให้เห็นการชะลอตัวลงด้านการลงทุน การผลิตในโรงงาน และการค้าปลีก
สงครามการค้ากับสหรัฐฯเป็นเรื่องที่น่ากังวลเช่นกัน แต่ไม่ใช่สาเหตุที่สำคัญที่สุด
“ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะฉุดกิจกรรมต่างๆลง แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ เราคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะซบเซาลงจากแรงต้านในประเทศที่เกิดจากการเติบโตของเครดิตที่ชะลอตัวลง” ชางหลิว นักเศรษฐศาสตร์ชาวจีนที่บริษัทวิจัย Capital Economics ระบุในเอกสารที่ส่งให้ลูกค้าในสัปดาห์นี้
แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่าความกลัวว่าเศรษฐกิจชะลอตัวจะจางหายไป Douglas Morton ประธานการวิจัยเอเชียที่ Northern Trust Capital Markets ชี้ว่ามีสัญญาณว่าดีมานด์ของน้ำมันและตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงแข็งแกร่ง
“ พาดหัวข่าวเรื่องความกังวลที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นเรื่องเกินจริงไป” เขาระบุในเอกสารที่ส่งให้ลูกค้าในสัปดาห์นี้
ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ ร่วงลงมาอยู่ในแดนลบเมื่อสองเดือนก่อน และตอนนี้ดิ่งร่วงลงมาจากที่เคยพีคที่สุดในเดือนม.ค.ถึง 23%
ขณะที่สกุลเงินหยวนของจีน อ่อนค่าลงมาประมาณ 9% ต่อดอลลาร์สหรัฐฯตั้งแต่เดือนเม.ย. ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึงดึงดูดนักลงทุนมากขึ้นให้ถือครองทรัพย์สินเป็นดอลลาร์สหรัฐฯและเทขายสกุลเงินอื่นๆ
เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมาจากการที่จีนพยายามรับมือกับภาระหนี้ที่สูงมาก ความกังวลมากที่สุดอยู่ที่ระดับหนี้ของบริษัท โดยเฉพาะกิจการรัฐวิสาหกิจ
ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงและผู้นำคนอื่นๆเรียกร้องให้ระบบการเงินของจีนปรับลดความเสี่ยงในการกู้ยืม หรือที่มักเรียกกันว่า ภาวะรัดเข็มขัด ทางการพยายามที่จะปราบปรามด้านมืดของภาคธนาคารที่เล่นตุกติกกับสินเชื่อและหลบเลี่ยงไม่ให้อยู่ในงบดุลทางการของธนาคาร
“แรงต้านที่เติบโตมากที่สุดมาจากมาตรการรัดเข็มขัด” Larry Hu นักเศรษฐศาสตร์ที่ธนาคารการลงทุน Macquarie ระบุในเอกสารที่ส่งถึงลูกค้า
จีนกำลังหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการประกาศหลายมาตรการ ทั้งลดภาษี การใช้จ่ายในโครงสร้างพื้นฐานและให้สินเชื่อใหม่กับธุรกิจ โดยรัฐบาลระบุว่า ความเคลื่อนไหวเหล่านี้จะช่วยให้จีนรับมือกับสภาพแวดล้อมภายนอกที่ผันผวนได้
“แม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัว จีนยังคงมีอีกหลายนโยบายที่จะช่วยบรรเทาการชะลอตัวลงได้” Cam Hui นักกลยุทธ์ที่บริษัทวิจัย Pennock Idea Hub ระบุในผลวิจัย
แต่รัฐบาลจีนยืนยันว่าไม่มีแผนที่จะใช้จ่ายอย่างที่เคยทำหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
“ เราไม่ได้พูดถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือไม่พูดถึงการควบคุมความเสี่ยงการเงิน ปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะดูแลทุกอย่าง” หลิว กุน รมว.กระทรวงการคลังกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสื่อรอยเตอร์เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา