เศรษฐกิจจีนชะลอตัว
เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณการชะลอตัวจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ โดยตัวเลขการลงทุนในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ลดลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ และการค้าปลีกอ่อนแรงลง อ้างอิงจากข้อมูลเมื่อวันที่ 14 ส.ค.
การลงทุนในทรัพย์สินถาวรชะลอตัวลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้มาอยู่ที่ 5.5% ในเดือนม.ค. – ก.ค.ชี้ให้เห็นถึงดีมานด์ในประเทศที่อ่อนแรงลงและความเชื่อมั่นธุรกิจลดลง เนื่องจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับธุรกิจในประเทศในช่วงเวลาที่รัฐบาลจีนกำลังดำเนินการปราบปรามปัญหาหนี้และมลภาวะไปพร้อมกัน
โดยตัวเลขการลงทุนของจีนจัดว่าอ่อนแรงลงที่สุดเป็นประวัติการณ์ย้อนไปเทียบกับเมื่อปี 2539 อ้างอิงจากข้อมูลของรอยเตอร์ Eikon ก่อนหน้านี้ มีการคาดการณ์กันว่าการลงทุนจะเติบโต 6.0% ในช่วง 7 เดือนแรกของปี มีเสถียรภาพต่อจากเดือนม.ค. – มิ.ย.
ภาคส่วนค้าปลีกก็พลาดเป้าจากการคาดการณ์เช่นกัน เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนมีความลังเลใจมากขึ้นที่จะใช้จ่ายเงินกับทุกอย่าง ตั้งแต่เครื่องสำอางและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ทุกวันไปจนถึงสินค้าชิ้นใหญ่อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและเฟอร์นิเจอร์ โดยตัวเลขยอดขายอยู่ที่ 8.8% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบกับปีก่อน ต่ำกว่าคัวเลขคาดการณ์คือ 9.1% และลดลงจาก 9.0% ในเดือนมิ.ย.
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมก็ไม่อาจเร่งเครื่องขึ้นมาได้อย่างที่คาดการณ์ โดยตัวเลขเติบโต 6.0% ในเดือนก.ค. อ้างอิงจากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พลาดเป้าจากตัวเลขคาดการณ์คือ 6.3%
ขณะที่ตัวเลขที่อ่านได้ในด้านการค้าและเงินเฟ้อของจีนยังได้รับผลกระทบจำกัดจากสงครามการค้ากับวอชิงตัน แต่มีความกังวลเพิ่มขึ้นว่าความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ในอีก 2 – 3 เดือนหน้า
การเติบโตด้านการใช้จ่ายในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจในปี 2560 ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 5.7% ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับตัวเลขเติบโต 7.3% ในเดือนม.ค.- มิ.ย.
หนึ่งในข้อมูลเชิงบวกคือ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่เติบโต 8.8% ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับตัวเลข 8.4% ในช่วงครึ่งปีแรก การลงทุนภาคเอกชนคิดเป็นประมาณ 60% ของการลงทุนโดยรวมทั้งหมดในจีน
นอกจากนี้ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เติบโต 13.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือน ต.ค.ปี 2559 เป็นต้นมา และสูงกว่าตัวเลขเติบโต 8.4% ในเดือนมิ.ย. อ้างอิงจากการประเมินของรอยเตอร์
โดยตัวเลขการก่อสร้างโครงการใหม่พุ่งทะยานขึ้นถึง 32.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ถือเป็นการเติบโตสูงสุดนับตั้งแต่ปลายปี 2557 เป็นต้นมา
ทางการจีนระบุว่า เพื่อเป็นการหนุนการเติบโตและรับมือกับสงครามการค้าจากสหรัฐฯ ทางปักกิ่งจะยกระดับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เป้าหมาย และมีนโยบายการคลังที่อำนวยความสะดวกให้ นอกจากนี้ ยังมีการประกาศลดภาษีและอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบเพื่อทำให้ต้นทุนการกู้ยืมลดลง
นักวิเคราะห์ในจีนแสดงความกังวลว่า หากมีการดำเนินการเช่นนั้น จีนอาจกำลังหวนไปสู่การกระตุ้นให้เป็นหนี้เพิ่มขึ้น สวนทางกับนโยบายในช่วงหลายปีนี้ที่เน้นลดความเสี่ยงที่จะกระทบระบบการเงินและลดตัวเลขหนี้.