หนังฮิตทำจีนขยับเรื่องยารักษามะเร็ง
นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงของจีนเรียกร้องให้มียารักษาโรคมะเร็งที่มีราคาถูกและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น หลังความสำเร็จท่วมท้นของภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่จุดกระแสให้มีการถกเถียงกันในประเด็นนี้อย่างแพร่หลาย
นายกฯ หลี่พูดถึงประเด็นยารักษามะเร็งหลังจากภาพยนตร์ตลกร้ายเรื่อง Dying To Survive ถล่มบ็อกซ์ออฟฟิศของจีน โดยกวาดรายได้ไปมากถึง 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 13,057 ล้านบาทในสองสัปดาห์แรกที่ออกฉาย เป็นเรื่องราวของเจ้าของร้านคนหนึ่งที่นำเข้ายารักษามะเร็งราคาถูกมาจากอินเดีย ซึ่งยาชนิดนี้เป็นยาที่ทางการจีนห้ามจำหน่าย
ทั้งนี้ มะเร็งเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนจีนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง มีประชากรเกือบ 3 ล้านคนในจีนที่เสียชีวิตเพราะโรคมะเร็งในแต่ละปี
ถึงแม้จีนจะมีประกันสุขภาพที่ครอบคลุม ความสะดวกสบายทางการแพทย์และมาตรฐานการรักษายังคงไม่เท่าเทียมกัน คนในเมืองได้รับการรักษาที่ดีกว่าคนในชนบท และทุกคนต้องจ่ายเพื่อบางอย่างในการรักษาตัว นี่อาจเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้จึงจับใจผู้ชมเป็นอย่างมาก
แม้ก่อนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะออกฉาย รัฐบาลจีนก็ตระหนักดีว่า ต้องปรับปรุงการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและราคาของยา โดยในเดือนพ.ค. รัฐบาลจีนประกาศยกเลิกภาษีนำเข้ายารักษาโรคมะเร็ง
แต่อิทธิพลของภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้นายกฯหลี่ต้องให้สัญญาซ้ำอีกว่า จะปรับปรุงการรักษาผู้ป่วยคนจีนที่เป็นโรคมะเร็งกว่า 4 ล้านคนในแต่ละปีให้ดีขึ้นกว่าเดิม
ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นการเปิดเผยถึงบางอย่างเกี่ยวกับจีนคือ เป็นรัฐหนึ่งที่พลเมืองมีช่องทางแสดงความเห็นเพียงน้อยนิด และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ แม้แต่ที่นี่ ผู้นำก็ไม่ฟังสิ่งที่ประชาชนพูด
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของนักธุรกิจจีนชื่อ ลู่หยง ซึ่งถูกจับกุมเมื่อ 5 ปีก่อนเนื่องจากเป็นผู้นำเข้ายารักษาโรคมะเร็ง
คดีของเขาถูกยกฟ้องไป หลังสาธารณชนมีการถกเถียงประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง อ้างอิงจากรายงานของสำนักข่าว AFP
ซู เจิง นักแสดงตลกชื่อดังและเป็นผู้กำกับการแสดง รับบทเป็นลู่หยง ผู้ซึ่งลักลอบนำยาเข้ามา และพัฒนาความเห็นอกเห็นใจและความสัมพันธืกับผู้ที่ซื้อยาจากเขา โดยมีอุตสากรรมผลิตยาเป็นตัวร้ายในเรื่อง
“ มันเป็นชีวิตจริง” นายแพทย์จาง ซึ่งเป็นผู้ชมภาพยนตร์คนหนึ่งในกรุงปักกิ่งให้ความเห็นกับวอลล์สตรีทเจอร์นัล “ ผมรู้จักคนไข้ซึ่งเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ที่ต้องหมดตัวและจบชีวิตลง”
ภาพยนตร์ทุนสร้างต่ำเรื่องนี้สะเทือนใจและเผยให้เห็นถึง ‘บาดแผลของสังคม’ เกี่ยวกับการเข้าไม่ถึงการรักษาในโรงพยาบาล เกาเหว่ย ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่ China Centre for Globalization ให้ความเห็น
“ นอกจากตัวหนังจะวิจารณ์สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่แล้ว ที่ได้รับความนิยมก็เพราะระดับของการวิจารณ์ที่ผ่านการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลจีน” สื่อรอยเตอร์ยกคำพูดของเขามารายงาน
ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถทำรายได้ชนะภาพยนตร์แฟนตาซีทุนสร้างมหาศาลอย่าง Asura ที่ทำรายได้เพียง 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 251 ล้านบาท เมื่อออกฉายในสัปดาห์ที่ผ่านมา
มีการพูดถึงภาพยนตร์เรื่อง Dying To Survive บน WeChat ว่า “ เป็นก้าวเล็กๆที่อาจกลายเป็นก้าวครั้งสำคัญสำหรับการสร้างภาพยนตร์ในประเทศ”.