“ไช่”เรียกร้องประชาธิปไตยจากจีนครบรอบเทียนอันเหมิน
ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินเรียกร้องให้จีนยอมรับเหตุปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงที่จตุรัสเทียนอันเหมินซึ่งครบรอบ 29 ปี โดยกล่าวว่า การเรียกร้องประชาธิปไตยของไต้หวันเป็นตัวอย่างของการเคลื่อนไปข้างหน้า หลุดจากระบบเผด็จการในอดีต
ในความเห็นที่ดูจะทำให้ทางปักกิ่งขุ่นเคืองไม่พอใจ ประธานาธิบดีไช่เรียกร้องให้รัฐบาลตระหนักถึงสิงที่อยู่ในข้อความที่เธอโพสต์บนเพจเฟซบุ๊กของเธอ
“ ดิฉันเชื่ออย่างจริงใจว่า หากปักกิ่งเผชิญหน้าและยอมรับถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและรับรู้ว่าเป็นความรุนแรงจากฝ่ายรัฐ จะทำให้ประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายของวันที่ 4 มิ.ย.กลายเป็นพื้นฐานที่สำคัญในความก้าวหน้าของจีนที่มีต่อประชาธิปไตยที่เสรี ” เธอโพสต์
เกือบสามทศวรรษหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์ส่งรถถังเข้าทำร้ายผู้เดินขบวนประท้วงในจตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ปี 2532 จีนยังคงห้ามไม่ให้มีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้และยังคงเซ็นเซอร์ทุกคำที่เกี่ยวข้องกับเหตุร้ายที่กลายเป็นโศกนาฎกรรมที่สะเทือนใจ
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ประชาชนนับร้อย หรือบางทีอาจจะนับพันถูกสังหาร รวมทั้งกลุ่มนักศึกษา ซึ่งเป็นผู้นำในการประท้วงที่เข้าร่วมในการชุมนุมอย่างสันติเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตยในจีน
ปัจจุบัน ไต้หวันเป็นประชาธิปไตยเต็มขั้น แต่ก็มีประวัติศาสตร์บันทึกไว้ถึงเหตุความรุนแรงที่แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของเผด็จการในอดีต โดยไต้หวันเพิ่งยกเลิกกฎอัยการศึกไปในปี 2530
ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันในเดือนพ.ค.ปี 2559 คณะรัฐบาลของเธอได้ผ่านกฎหมายหลายฉบับเพื่อสืบสวนถึงช่วงเวลาของการกดขี่ และเคลื่อนย้ายสัญลักษณ์ของเผด็จการออกไป รวมถึงอนุสาวรีย์ของอดีตผู้ปกครองประเทศอย่างเจียงไคเช็ค
โดยเธอได้ขออุทธรณ์โดยตรงต่อชาวเน็ตของจีน โพสต์ด้วยภาษาจีนระดับง่ายที่ใช้กันบนจีนแผ่นดินใหญ่บนข้อความในเฟซบุ๊กของเธอ แทนที่จะโพสต์ตัวอักษรจีนดั้งเดิมที่ซับซ้อนซึ่งใช้กันในไต้หวันและฮ่องกง
“ ชาวเน็ตจีนที่มาที่นี่จะพบว่าเพจเฟซบุ๊กของดิฉันเป็นการสรุปความเป็นประชาธิปไตยของไต้หวัน เราไม่มีคำที่อ่อนไหว เราไม่มีการเซ็นเซอร์ทางอินเทอร์เน็ต และไม่จำเป็นต้องเลี่ยง firewall ” เธอโพสต์
ทั้งนี้ จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเข้มงวดในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ด้วยระบบ Great Firewall ของจีนจะทำหน้าที่ปิดกั้นเว็บไซต์โซเชียลมีเดียจากต่างประเทศ ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์
การปราบปรามในไต้หวัน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยบรรยายว่าเป็นเหตุจลาจล ได้กลายเป็นเหตุการณ์ที่ปลุกเร้า เป็นการรวมตัวกัน และขับเคลื่อนสังคมเพื่อหนุนให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตยในไต้หวัน เธอเสริม
สิ่งที่เธอโพสต์ดึงดูดให้มีผู้แสดงความเห็นนับพันคนในเวลาเพียงชั่วโมงกว่า โดยมีทั้งผู้วิจารณ์และผู้ให้การสนับสนุนความเห็นของเธอปนกัน
“ ฉันหวังว่าคำพูดของคุณจะประทับใจชาวจีนแผ่นดินใหญ่หลายคน ” อ้างอิงจากความเห็นหนึ่งซึ่งใช้ภาษาจีนง่ายๆ
“ คนเก่งทุกคนก็ไปจีนหมด อะไรคือจุดที่จะพูดเกี่ยวกับประชาธิปไตยและเสรีภาพ ?” จากอีกความเห็นหนึ่ง
จีนอ้างว่าไต้หวันเป็นเขตปกครองตนเองของประเทศตน เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรที่มีการรวมกันในบางจุด ขณะที่ไต้หวันกลับมองประเทศตัวเองว่าเป็นประเทศที่มีอธิปไตย
ความสัมพันธ์ของจีนและไต้หวันสั่นคลอนลงอย่างรวดเร็ว หลังจากประธานาธิบดีไช่ชนะการเลือกตั้งเป็นผู้นำไต้หวันคนใหม่ เพราะจีนกังวลว่าพรรคการเมืองของเธอซึ่งสนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตย จะหนุนไต้หวันให้แยกตัวเป็นอิสระจากจีน.