การผลิตจีนชะลอตัว
กิจกรรมในภาคการผลิตของจีนซบเซาในเดือนเม.ย.เนื่องจากคำสั่งซื้อชะลอตัวจากสัญญาณการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดต่ำลง เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
เมื่อวันที่ 30 เม.ย.มีการเผยแพร่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) อย่างเป็นทางการ โดยตัวเลขในดัชนีลดลงจาก 51.5 ในเดือนมี.ค.ลงมาอยู่ที่ 51.4 ในเดือนเม.ย. แต่ยังคงสูงกว่า 50 ซึ่งเป็นตัวเลขมาตรฐานชี้วัดการเติบโต (ต่ำกว่า 50 คือหดตัวลง ) ทำให้เป็นเดือนที่ 21 ต่อเนื่องกันที่จีนอยู่ในภาวะการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยตัวเลขเฉลี่ยจากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ของรอยเตอร์อยู่ที่ 51.3
แต่ตัวเลขของดัชนีที่อ่อนแรง โดยเฉพาะคำสั่งซื้อในการส่งออกที่ชะลอตัวลง ยิ่งเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับโมเมนตัมเศรษฐกิจที่หายไปในจีน เนื่องจากรัฐบาลกำลังจัดการกับความเสี่ยงของหนี้และความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯยังตึงเครียด
“แนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลงในหลายเดือนข้างหน้าฉุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการเติบโตของสินเชื่อที่อ่อนแรง และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ลดความร้อนแรงลง”
ทั้งนี้ นับเป็นปีที่ 3 ที่จีนพยายามอย่างหนักที่จะควบคุมการก่อหนี้ที่เป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ และจนถึงตอนนี้ รัฐบาลมีท่าทีจะประสบความสำเร็จในการควบคุมผ่านความท้าทายจากความเสี่ยงทางการเงินที่ลดทอนลงโดยไม่ทำเศรษฐกิจเสียหาย
ดัชนีย่อยสำหรับผลผลิตยังคงเท่าเดิมอยู่ที่ 53.1 ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่โดยรวมลดลงมาอยู่ที่ระดับ 52.9 จากเดิม 53.3
ขณะที่ภาคส่วนเทคโนโลยียังแข็งแกร่ง ซึ่งช่วยหนุนการส่งออกของจีนให้เติบโตอย่างมั่นคงในปี 2560 อาจตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เป็นภัยคุกคามการค้าข้ามพรมแดนที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
สัญญาณของความอ่อนแรงลงในภาคการค้าเป็นสิ่งพิสูจน์ที่ชัดเจนในดัชนี PMI จากดัชนีย่อยของคำสั่งซื้อในการส่งออกลดลงมาอยู่ที่ 50.7 จากเดิมคือ 51.3
ยังคงมีการคาดการณ์เพิ่มขึ้นว่า จีนกำลังพิจารณาการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินให้มีความผ่อนปรนมากขึ้น เนื่องจากมีความเสี่ยงจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ปกคลุมแนวโน้มแรงขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญของทั้งเศรษฐกิจเดิมของจีนที่พึ่งพาอุตสาหกรรมหนักเป็นหลัก และเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นไปที่บริษัทเทคโนโลยีจำนวนมาก
โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนระบุในแถลงการณ์ว่า อุตสาหกรรมบริการชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาที่มั่นคง ดัชนีบริการ PMI อย่างเป็นทางการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 54.8 จากเดิมอยู่ที่ 54.6 ในเดือนมี.ค. ช่วยหนุนให้กิจกรรมมีการขยายตัวและดำเนินไปอย่างมั่นคง
ภาคบริการมีสัดส่วนคิดเป็นมากกว่าครึ่งของเศรษฐกิจจีน ด้วยค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นช่วยหนุนอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ดัชนี PMI ผสมที่ครอบคลุมกิจกรรมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการเพิ่มขึ้นเป็น 54.1 ในเดือนเม.ย. จากเดิม 54 ในเดือนมี.ค. สูงกว่าเกณฑ์ 50 ที่เป็นตัวเลขชี้วัดความแตกต่างระหว่างการขยายตัวและการหดตัว.