เศรษฐกิจจีนไตรมาสแรกโต 6.8%
เศรษฐกิจของจีนเติบโต 6.8% ในไตรมาสแรกของปี 2561 นี้ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เล็กน้อยและไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาสก่อนหน้า อ้างอิงจากข้อมูลของทางการ
ข้อมูลชี้ให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจจีนที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แม้แนวโน้มการส่งออกจะยังไม่ชัดเจนจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีน
โพลล์จากนักวิเคราะห์ของรอยเตอร์คาดการณ์ว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีของจีนจะขยายตัวอยู่ที่ 6.8% ในไตรมาสเดือนม.ค.-มี.ค. ชะลอตัวลงจากตัวเลขเดิมคือ 6.8% ของสองไตรมาสก่อนหน้านี้
การเติบโตยังคงสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ตลอดปีประมาณ 6.5% ของรัฐบาล ซึ่งทำให้ผู้กำหนดนโยบายมีความเชื่อมั่นมากขึ้นที่จะยกระดับความพยายามที่จะลดความเสี่ยงในระบบการเงินและการจัดการสภาพแวดล้อมให้สะอาดขึ้น
เมื่อเทียบกับพื้นฐานต่อไตรมาส จีดีพีในไตรมาสแรกมีการเติบโต 1.4% เมื่อเทียบกับตัวเลขเติบโตที่มีการแก้ไขอยู่ที่ 1.6% ในไตรมาสเดือนต.ค. -ธ.ค. อ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ทั้งนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนเติบโต 6.0% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบกับปีก่อน ไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ ขณะที่การเติบโตของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรชะลอตัวลงอยู่ที่ 7.5% ในไตรมาสแรก ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์เช่นกัน อ้างอิงจากข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 เม.ย.
โพลล์ของนักวิเคราะห์จากรอยเตอร์ทำนายว่า การเติบโตของผลผลิตจะไปได้ดีอยู่ที่ 6.2% จากตัวเลขเดิม 7.2% ในสองเดือนแรกของปีนี้
คาดการณ์ว่าการเติบโตของการลงทุนจะลดลงมาอยู่ที่ 7.6% ในไตรมาสแรกของปีนี้ จากตัวเลข 7.9% ในเดือนม.ค.-ก.พ.
โดยเมื่อวันที่ 17 เม.ย.สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 8.9% ในเดือนม.ค.-มี.ค. เมื่อเทียบกับตัวเลขการเติบโต 8.1% ในสองเดือนแรกของปี
ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนคิดเป็นประมาณ 60% ของการลงทุนโดยรวมทั้งหมดของจีน
ยอดขายค้าปลีกเติบโต 10.1% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบกับปีก่อน ดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ว่าจะเติบโต 9.9% และเมื่อเทียบกับตัวเลข 9.7% ในสองเดือนแรกของปี
รัฐบาลจีนตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ 6.5% ในปีนี้ เท่ากับตัวเลขเป้าหมายเดิมในปี 2560 ตัวเลขการเติบโตในปีที่แล้วแข็งแกร่งอยู่ที่ 6.9% จากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่บูมขึ้นมา หนุนให้การส่งออกฟื้นคืนกลับมาและตัวเลขการกู้ยืมธนาคารสูงเป็นประวัติการณ์
ขณะที่การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโต 10.4% ในไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับตัวเลข 9.9% ในสองเดือนแรก อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
อสังหาริมทรัพย์มีผลกระทบโดยตรงต่อ 40 ภาคส่วนธุรกิจอื่นในจีน และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่การบูมขึ้นมาตั้งแต่ปี 2559
ทำให้มีความกังวลว่าอาจจะเกิดภาวะฟองสบู่ได้และมีการเสนอให้มีมาตรการภาครัฐที่จะควบคุมราคาที่อยู่อาศัย
การเติบโตของการลงทุน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้พัฒนาอสังหาฯรายใหญ่ของจีนเร่งสร้างอพาร์ทเมนต์ให้เช่าเพื่อเป็นการขานรับนโยบายของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่เรียกร้องให้มีห้องพักให้เช่าให้มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของประชาชน เนื่องจากกำลังซื้อลดลง
เฉพาะในเดือนมี.ค.เพียงเดือนเดียว ยอดขายอสังหาฯ ในจีนเพิ่มขึ้น 3.2% อ้างอิงจากการประเมินของรอยเตอร์จากพื้นฐานข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ.