ฝุ่นหนาทึบคลุมปักกิ่ง
เมื่อเช้าวันที่ 28 มี.ค. ดัชนีคุณภาพอากาศในกรุงปักกิ่งพุ่งทะยานขึ้นถึงระดับอันตรายเนื่องจากมีพายุทรายพัดพาฝุ่นหนาทึบเข้ามาจนปกคลุมไปทั่วเมือง หลังจากมีการออกประกาศเตือนในช่วงบ่ายของวันที่ 27 มี.ค.จากสำนักอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ
จากสัญญาณเตือนในระดับสีฟ้า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดจากทั้งหมด 4 ระดับของจีน ทางสำนักอุตุนิยมวิทยาแนะนำให้พลเมืองที่อาศัยอยู่ทางเหนือของกรุงปักกิ่ง บริเวณทางเหนือของมณฑลเหอเป่ยและภูมิภาคอื่นๆ ปิดประตูและหน้าต่างที่อยู่อาศัย สวมผ้าพันคอและหน้ากากกันฝุ่นละออง และขับรถช้าๆ เนื่องจากทัศนวิสัยไม่ดี
โดยระดับสัญญาณเตือนจะคงที่อยู่ในระดับนี้จนถึงเวลา19.00 น.ของวันที่ 28 มี.ค.
ดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศในกรุงปักกิ่งที่ทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ จัดให้ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สามารถหายใจเข้าไปได้ หรือที่เรียกว่า ค่า PM2.5 วัดได้ถึง 244 ในเวลา 08.53 น. อยู่ในระดับที่ “ไม่ดีต่อสุขภาพ”
ขณะที่ดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศอย่างเป็นทางการของจีนในเมือง โดยคำนวณจากมาตรวัดมลพิษที่แตกต่างกัน 6 ชนิด รวมทั้งค่า PM2.5 วัดได้ ถึง 999 ซึ่งอยู่ในระดับอันตราย และค่าที่อ่านได้จากแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือได้ตัวเลขสูงถึง 2000
ทั้งนี้ พายุทรายที่อยู่ในดัชนีถูกจัดเป็นค่าฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่กว่าที่เรียกว่าค่า PM10
โดยปกติแล้ว จีนจะโทษว่าพายุทรายที่เกิดขึ้นในแต่ละปีพัดพามาจากทะเลทรายโกบีในมองโกเลีย โดยผู้แทนจากจีนในภูมิภาคกานซูกล่าวในสภาของจีนในเดือนนี้ว่า มากกว่าครึ่งของพายุฝุ่นที่ส่งผลต่อจีนในแต่ละปีมาจากประเทศอื่น โดยหลักๆมาจากทางตอนใต้ของมองโกเลีย
กรุงปักกิ่งดำเนินการปลูกต้นไม้นับล้านต้นตามแนวชายแดนของประเทศ เพื่อเป็นการบล็อกป้องกันพายุทรายไม่ให้ผ่านเข้ามา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่มีชื่อเรียกว่า ‘Great Green Wall’
มลพิษในกรุงปักกิ่งของจีนเป็นผลมาจากการจัดการลดฝุ่นควันจากเดือนต.ค. ปีที่แล้วจนถึงเดือนก.พ.ปีนี้ อ้างอิงจากกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม
แต่ปักกิ่งเป็นเพียง 1 ใน 34 เมืองทางตอนเหนือของจีนที่มีสัญญาณเตือนมลพิษในระดับสีส้มตลอดช่วงสุดสัปดาห์ โดยกิจกรรมทางอุตสาหกรรมจะถูกระงับไป และเริ่มกลับมาเดินเครื่องได้อีกครั้งหลังหมดช่วงควบคุมในฤดูหนาว.