วันสตรีสากล จีนเน้นขายของมากกว่า
ผู้ค้าปลีกชาวจีนเอาใจลูกค้าผู้หญิงในวันสตรีสากล โดยให้คูปองและส่วนลด ทั้งเสื้อผ้ากีฬา เครื่องสำอาง และสินค้าดูแลสุขภาพเพื่อให้ผู้หญิงใช้จ่ายมากขึ้น โดยยังมีคำโฆษณาเรียกขานว่าเป็น ‘วันราชินี’ และ ‘วันเทพธิดา’ ด้วย
ในประเทศอื่นๆ มีกิจกรรมเพื่อฉลองความเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี และเน้นด้านความเท่าเทียมทางเพศ แต่ในจีน วันสตรีสากลกลายเป็นวันในการออกแคมเปญสำคัญด้านการค้าปลีกออนไลน์ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่สร้างความไม่พอใจให้นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิที่ต้องการให้วันนี้เป็นโอกาสที่จะเร่งเดินหน้าประเด็นในการต่อสู้เรื่องการคุกคามทางเพศ
สถานออกกำลังกายแห่งหนึ่งกระตุ้นการสมัครสมาชิกด้วยสโลแกนว่า “ เพียง 3 เดือน คุณจะกลายเป็นราชินี ” ขณะที่อาลีบาบากระตุ้นสาวนักช้อปด้วย “ เติมชีวิตแก่พลังสตรีของคุณ ”
ตลาดที่มีเป้าหมายเป็นผู้หญิง หรือที่เรียกกันว่า เศรษฐกิจสตรี (she economy) เป็นคำที่เกิดจากกระทรวงศึกษาธิการของจีนในปี 2550 อ้างอิงจากบริษัทหลักทรัพย์ Guotai Junan
ผู้หญิงใช้จ่ายในปี 2560 เพิ่มขึ้นถึง 64% จากปี 2559 โดยกำลังซื้อส่วนใหญ่อยู่ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงปักกิ่ง เซียงไฮ้และกวางโจว อ้างอิงจากรายงานที่จัดทำโดยอาลีบาบา ซึ่งควบคุมยอดขายค้าปลีกอีคอมเมิร์ซได้มากที่สุดในจีน โดยเป็นการซื้อสินค้าที่หลากหลายมากกว่าแค่เครื่องสำอางและรองเท้าเท่านั้น
โดยจำนวนผู้หญิงที่ซื้อชุดวิ่งออกกำลังกายเพิ่มขึ้นมากกว่า 13 เท่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ผู้หญิงมีการเลือกซื้อนวมชกมวยเพิ่มขึ้นถึง 75% อ้างอิงจากรายงานแยกอีกฉบับของอาลีบาบา
อาลีบาบาไม่ได้ขานรับและให้ความเห็นต่อคำวิพากษ์วิจารณ์จากนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีที่ว่า บริษัทมุ่งเน้นใช้วันสตรีสากลมาเป็นจุดขายของผู้ค้าปลีกออนไลน์
การผลักดันของบริษัทจีนไม่เพียงเน้นที่สินค้าบริโภคเท่านั้น เพื่อเป็นการเจาะตลาดผู้หญิงที่รักสุขภาพมากขึ้น ในปีนี้ อาลีบาบาร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้ส่วนลด 50% กับลูกค้าสาวๆ ในการฉีดวัคซีน HPV ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
แม้ความสำคัญของผู้หญิงจะเพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจของจีน แต่ยังคงขาดโอกาสของความเท่าเทียมในส่วนธุรกิจและการเมือง อ้างอิงจากความเห็นของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี
ผู้หญิงชาวจีนได้ค่าจ้างต่อเดือนน้อยกว่าผู้ชาย 22% โดยช่องว่างยิ่งห่างมากขึ้นอีกในระดับตำแหน่งที่สูงขึ้น จ้าวปิน เว็บไซต์งานของจีนระบุในรายงาน และมีผู้หญิงเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นจากจำนวนส.ส.ทั้งหมดของจีน
“ สังคมกระแสหลักของจีนไม่ค่อยพูดเกี่ยวกับประเด็นสิทธิของผู้หญิงในวันสตรีสากลมานานแล้ว ” เสี่ยวเหม่ยลี่ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีที่มีชื่อเสี่ยงเป็นที่รู้จักกล่าว
“ พวกเขาใช้คำว่า ‘วันราชินี’ หรือ ‘วันเทพธิดา’ เพื่อให้รู้สึกว่าเป็นวันที่ผู้หญิงเรามีโอกาสที่จะถูกหลงใหลหรีอมีคนมาชื่นชม มันเป็นการเชิดชูสิทธิสตรีเพื่อการพาณิชย์เท่านั้น ” เธอกล่าว
แทนที่จะเน้นแต่ช้อปปิง ผู้หญิงจีนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้กับการคุกคามทางเพศในการเคลื่อนไหวแบบแคมเปญ # MeToo มากกว่า กลุ่ม Feminist Voices ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่งระบุบน WeChat ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียยอดนิยมของจีน
นักศึกษา อาจารย์ และกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีในจีนเรียกร้องให้มีการขจัดการคุกคามทางเพศในมหาวิทยาลัยให้หมดไป หลังจากมีกรณีที่นักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยคนหนึ่งกล่าวหาว่าอดีตอาจารย์ของเธอว่ากระทำการคุกคามทางเพศต่อเธอ และเป็นประเด็นที่แพร่กระจายเป็นไวรัลอย่างกว้างขวาง.