เมืองเกษตรจีนกลายเป็นเมืองทำเปียโน
เป็นเรื่องยากที่จะเห็นเกษตรกรเล่นเปียโน แต่ที่หายากยิ่งกว่าคือเมืองเล็กๆในมณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกของจีน เกษตรกรสามารถทำรายได้จากการสร้างสรรค์เปียโน
โดยเมืองลั่วเซอ ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรน้อยกว่า 20,000 คน กลับเป็นฐานการผลิตและมีโรงงานผลิตเปียโนมากกว่า 60 แห่ง ในปี 2560 ที่ผ่านมา เมืองนี้มีการผลิตเปียโนไปแล้วมากกว่า 50,000 หลัง
ไม่น่าเชื่อว่าผู้คนในเมืองลั่วเซอเริ่มที่จะผลิตเปียโนมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยหลังจากจีนมีการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และมีนโยบายเปิดกว้างในปี 2521 ประชาชนทั่วประเทศได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้เริ่มต้นทำธุรกิจ ทำให้ในปี 2527 หวังฮุยหลินเริ่มต้นก่อตั้งโรงงานผลิตเปียโนแห่งแรกในเมืองลั่วเซอ
ในระยะแรก เกษตรกรตัดสินใจที่จะทำเปียโนของเล่น แต่ความคิดที่จะทำเปียโนจริงๆเกิดขึ้นหลังจากเขาค้นพบว่า เกษตรกรหลายคนในเมืองมีทักษะที่ยอดเยี่ยมในงานช่างไม้
โดยหวังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งนำช่างเปียโน 4 คนจากเซี่ยงไฮ้มาที่โรงงานและให้เงินค่าจ้าง 10,000 หยวน หรือราว 50,800 บาท และเพิ่มเงินเดือนพวกเขาเป็นสามเท่า คือสูงมากกว่า 200 หยวน ( 1,016 บาท) แต่ที่โรงงานก็ยังผลิตได้แต่เปียโนของเล่นหรือเฟอร์นิเจอร์
อย่างไรก็ตาม ภายใต้คำแนะนำของช่างเปียโนที่มากประสบการณ์ เกษตรกรใช้เวลา 4 ปีจึงสามารถผลิตเปียโนเครื่องแรกได้ หลังจากนั้น เมืองลั่วเซอก็เริ่มมีการพัฒนาการสร้างสรรค์เปียโนขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ เปียโนหนึ่งหลังประกอบด้วยชิ้นส่วนต่างๆมากกว่า 8,000 ชิ้น และต้องใช้ขั้นตอนการผลิตมากกว่า 300 ขั้นตอน แต่เราก็สามารถทำจนได้” จินเหวินหยิง ซึ่งเคยทำงานที่โรงงานผลิตเปียโนกล่าว
เกษตรกรในเมืองลั่วเซอเรียนรู้ที่จะสร้าง ขัด ขึงสาย และทาสีเปียโน พวกเขากลายเป็นผู้ผลิตเปียโนมืออาชีพ หรือแม้แต่สอนตัวเองให้เล่นเปียโน
เมื่อเศรษฐกิจในจีนเริ่มเข้ารูปในช่วงทศวรรษปี 1990 เกษตรกรหลายคนเริ่มตั้งต้นทำธุรกิจผลิตเปียโน รวมทั้งจิน ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโรงงานผลิตเปียโนหยูหยุน
ปัจจุบัน เปียโน 1 ใน 8 ของจีนผลิตมาจากเมืองลั่วเซอ โดยอุตสาหกรรมผลิตเปียโนสามารถทำรายได้ประมาณ 250 ล้านหยวน หรือราว 1,270 ล้านบาท
ในเดือนมี.ค.ปี 2553 มีการจัดแสดงแกรนด์เปียโนในงานแสดงสินค้าที่นครเซี่ยงไฮ้ โดยเปียโนที่สร้างสรรค์โดยช่างทำเปียโนเมืองลั่วเซอในเวลาเพียง 33 วัน ได้ถูกประมูลไปในราคา 9.9 ล้านหยวน หรือราว 50.29 ล้านบาทเพื่อการกุศลในกรุงปักกิ่งในเวลาต่อมาในปีนั้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดที่ช่างทำเปียโนเมืองลั่วเซอเคยทำได้
เปียโนที่ผลิตในเมืองลั่วเซอถูกส่งออกไปขายมากกว่า 10 ประเทศและภูมิภาค และเมืองนี้กลายเป็นฐานการผลิตเปียโนที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีของจีน
แบรนด์เปียโนต่างประเทศ เช่น K.Clara ของออสเตรเลีย ก็มาตั้งโรงงานผลิตเปียโนที่เมืองลั่วเซอด้วยเช่นกัน
ประชากรในเมืองลั่วเซอยังคงทำงานเป็นเกตรกรทั้งในฤดูเพาะปลูกและฤดูเก็บเกี่ยว และมีการใช้ชีวิตในรูปแบบเดิมของพวกเขาทั้งเกษตรกรรมและการทำประมงที่สอดประสานไปกับดนตรีได้อย่างลงตัว.