ติตี้ ฉูชิ่ง/ซอฟต์แบงก์มุ่งลงทุนญี่ปุ่น
ติตี้ ฉูชิ่ง บริษัทยักษ์ใหญ่บริการรถร่วมโดยสารของจีนและซอฟต์แบงก์กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ด้านการลงทุนของญี่ปุ่นจะมีการลงทุนด้านบริการรถร่วมโดยสารในญี่ปุ่นในปีนี้ ท่ามกลางการต่อสู้ทั่วโลกเพื่อควบคุมเทคโนโลยีการคมนาคมในเมืองที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ความเคลื่อนไหวของการลงทุนในญี่ปุ่นถือเป็นก้าวสำคัญของติตี้ที่จะบุกตลาดต่างประเทศ แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายในการขยายบริการในญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทแท็กซี่ที่มีอยู่มีการล้อบบีอย่างหนักไม่ให้เกิดการลดกฎเกณฑ์ของภาครัฐในเรื่องนี้
โดยในญี่ปุ่น บริษัทที่ให้บริการรถร่วมโดยสารต้องเผชิญกับกฎระเบียบที่เข้มงวดที่ห้ามไม่ให้คนขับรถที่ไม่ได้ขับรถเป็นอาชีพให้บริการรถแท็กซี และมีการจำกัดบริการที่จะจับคู่ผู้ใช้งานกับรถแท็กซีผ่านโทรศัพท์มือถือ
ทั้งสองบริษัทระบุในแถลงการณ์ว่า ตั้งเป้าที่จะให้บริการในญี่ปุ่นให้ได้ภายในปีนี้ ซอฟต์แบงก์เป็นนักลงทุนในติตี้ โดยลงทุนสูงถึง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 127,960 ล้านบาท เพื่อการขับเคลื่อนการลงทุนทั่วโลกในเดือนธ.ค.ที่มีการประเมินว่ามีมูลค่าทั้งหมดมากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.59 ล้านบาท)
โดยติตี้มีการขยายธุรกิจในต่างประเทศอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา หลังจากสามารถยึดครองตลาดจีนได้สำเร็จด้วยการเข้าซื้อกิจการของอูเบอร์ในจีนตั้งแต่ปี 2559 ถือเป็นการจบยุคของสงครามการเทงบประมาณสู้กันอย่างดุเดือดที่ทำให้บริษัทอูเบอร์ของสหรัฐฯ หมดเงินลงทุนไปประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 63,980 ล้านบาท
ในเดือนม.ค.ทางติตี้เข้าซื้อหุ้นใหญ่ของบริษัทในบราซิล และยังมองหาช่องทางที่จะบุกเข้าตลาดเม็กซิโก รวมถึงขยายธุรกิจไปในพื้นที่นอกจีนแผ่นดินใหญ่อย่างฮ่องกงและไต้หวัน
“ ผมมองว่าในหนึ่งปีจากนี้ หากคุณเป็นนักเดินทางจากจีน ทุกที่ที่คุณไป คุณจะมีทางเลือกที่จะใช้บริการของติตี้เพื่อเรียกรถ และช่วยให้บริษัทปกป้องฐานผู้บริโภคที่มีอยู่เดิมได้อย่างมั่นคง ” Kirk Boodry นักวิเคราะห์ที่ New Street Research ให้ความเห็น
ขณะที่ซอฟต์แบงก์ถือหุ้นในติตี้ และคู่แข่งรายสำคัญในอินเดียอย่าง Ola และ Grab ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นแห่งนี้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในอูเบอร์
โดยมาซาโยชิ ซัน ผู้ก่อตั้งซอฟต์แบงก์กล่าวในสัปดาห์นี้ว่า แพลตฟอร์มบริการรถร่วมโดยสาร อาจจะมีมูลค่ามากกว่าตลาดยานยนต์เองเสียด้วยซ้ำในอนาคต
บริษัทรถร่วมโดยสารมอง่ว่าญี่ปุ่นเป็นตลาดที่มีศักยภาพและกำลังกดดันให้ภาครัฐผ่อนคลายกฎระเบียบที่เข้มงวดลง โดย Dara Khosrowshahi
ซีอีโอคนใหม่ของอูเบอร์จะเข้าพบกับตัวแทนภาครัฐของญี่ปุ่นในการเยือนเอเชียเป็นครั้งแรกในเดือนนี้
เมื่อวันที่ 8 ก.พ.บริษัทโตโยต้า มอเตอร์จะเข้าถือหุ้นใหญ่ในเจแปน แท็กซี ซึ่งเป็นบริการรถร่วมโดยสารที่ก่อตั้งโดยบริษัท Nihon Kotsu บริษัทแท็กซีที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งอิชิโร คาวานาเบะ ประธานบริษัทที่มีฉายาว่า ‘ เจ้าชายแท็กซี ’ เคยออกโรงต่อต้านการผ่อนคลายกฎของภาครัฐอย่างแข็งขัน
โดยบริษัทติตี้เองก็พยายามจะสร้างความหลากหลายในจีน ในสัปดาห์นี้ บริษัทได้ประกาศให้บริการรถร่วมโดยสารที่เป็นรถพลังงานไฟฟ้ากับ 12 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ทั้งหุ้นส่วนในประเทศอย่าง ฟอร์ด พันธมิตรระหว่างเรโนลต์ SA นิสสัน มอเตอร์และมิตซูบิชิมอเตอร์
ทั้งนี้ ติตี้และซอฟต์แบงก์ ตั้งเป้าจะให้บริการเพิ่มเติมในโอซาก้า เกียวโต ฟุกุโอกะ และโตเกียว.