จีนถูกกดดันคงตัวเลขจ้างงานแกร่งเท่าเดิม
จีนตกอยู่ใต้แรงกดดันมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อจะคงบรรยากาศ ‘การจ้างงานที่มีเสถียรภาพ’เนื่องจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลกระทบกับตลาดงานของประเทศ หน่วยงานที่วางแผนเศรษฐกิจระบุเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา
รัฐบาลจีนมักโต้แย้งว่าสถานะการจ้างงานในประเทศมีเสถียรภาพ โดยชี้ให้เห็นถึงดัชนีชี้วัดของทางการที่รวบรวมโดยกระทรวงแรงงานและสำนักงานสถิติแห่งชาติ แม้จะมีหลักฐานผุดขึ้นมาว่าสถานการณ์การว่างงาน โดยเฉพาะแรงงานอพยพที่สถิติของทางการไม่ครอบคลุม กำลังแย่ลง
จากข้อมูลที่เผยแพร่โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อวันที่ 16 ก.ย. อัตราการว่างงานในเขตเมืองที่มีการสำรวจอยู่ที่ 5.2% ช่วงสิ้นเดือนส.ค. ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขในเดือนก.ค. อยู่ 0.1% และต่ำกว่าเป้าของรัฐบาลอยู่ที่ 5.5%
“ เราสังเกตว่า แม้เศรษฐกิจและความขัดแย้งทางการค้าสหรัฐฯ – จีน และแรงกดดันด้านลบที่มีต่อเศรษฐกิจ ปัญหาโครงสร้างในการจ้างงานกำลังเพิ่มขึ้น และดีมานด์ในการรับสมัครแรงงานในบางอุตสาหกรรมลดจำนวนลง” เมิ่งเว่ย โฆษกคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) ระบุ “ จากผลกระทบที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นเหล่านี้ มีแรงกดดัน( สำหรับจีน) ในการคงตัวเลขการจ้างงานที่มีเสถียรภาพ”
รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจ้างงานที่มีเสถียรภาพเป็นลำดับแรก และได้ออกนโยบายจำนวนมากเพื่อช่วยการจ้างงาน รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดเล็ก และผู้ประกอบการเอกชน ซึ่งเป็นผู้สร้างงานมากที่สุดในเขตเมือง
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯมักอ้างอยู่บ่อยครั้งว่า มาตรการภาษีของเขาส่งผลกระทบอย่างหนักกับการจ้างงานในจีน ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่จีนปฏิเสธ
“ จีนสูญงานไปถึง 3 ล้านอัตรา บริษัทนับพันกำลังย้ายออกจากจีน ซัพพลายเชนอ่วมเพราะจ่ายภาษีไม่ไหว” ผู้นำสหรัฐฯระบุเมื่อสัปดาห์ก่อนที่นอร์ธแคโรไลนา
China International Capital Corporation ซึ่งเป็นธนาคารการลงทุนชั้นนำของจีนตีพิมพ์รายงานการสำรวจในเดือนก.ค.ที่โต้แย้งว่า ภาคอุตสาหกรรมจของจีนสูญงาน 5 ล้านอัตราในปีที่แล้ว โดยเป็นผลจากสงครามการค้าประมาณ 1.8 – 1.9 ล้านอัตรา
โฆษกเมิ่งจาก NDRC ระบุว่า มีตำแหน่งงานว่างมากกว่าจำนวนผู้หางานทำอย่างน้อยใน 11 มณฑล รวมทั้งกวางตุ้ง ซึ่งเป็นฮับการผลิตของจีน
สถานการณ์การจ้างงานยังคงมีเสถียรภาพสำหรับบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยของจีน ด้วยจำนวนบัณฑิตที่จบจากวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 8.34 ล้านคนในปีนี้
โดยเธอเสริมว่า 68.3% หรือมากกว่า 2 ใน 3 ของบัณฑิตมีงานทำก่อนวันที่ 1 ก.ค. ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2561.