จีนหนุนลงทุนเพิ่มในฮ่องกง
สิงคโปร์ (รอยเตอร์) – จีนร้องขอให้รัฐวิสาหกิจรายใหญ่ที่สุดหลายแห่งมีกิจกรรม มากขึ้นในฮ่องกง ทั้งเพิ่มการลงทุนและถือครองบริษัทมากขึ้นในฮับการเงินแห่งนี้ เนื่องจากรัฐบาลปักกิ่งพยายามแก้ไขผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในเมือง
ในการประชุมสัปดาห์นี้ที่เมืองเซินเจิ้น ซึ่งมีพรมแดนติดกับฮ่องกง รัฐบาลกระตุ้นให้ผู้บริหารอาวุโสจากรัฐวิสาหกิจรายใหญ่เกือบ 100 แห่งของจีนมีส่วนร่วมในการช่วยบรรเทาวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีของฮ่องกง จากแหล่งข่าวผู้บริหารของสื่อรอยเตอร์
โดยในการประชุม บรรดารัฐวิสาหกิจต่างรับปากที่จะลงทุนเพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรมของฮ่องกง ทั้งอสังหาริมทรัพย์และการท่องเที่ยวเพื่อสร้างงานให้ชาวฮ่องกง และสร้างเสถียรภาพให้ตลาดเงิน จากข้อมูลของสองผู้บริหาร ที่ไม่ประสงค์ออกนาม แต่ยังไม่มีการพูดคุยหรือตกลงการลงทุนใดเป็นการเฉพาะเจาะจง
รัฐวิสาหกิจ (SOEs) เหล่านี้ รวมถึง Sinopec ยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันและบริษัทในเครือ China Merchant Group ด้วย
การประชุมจัดขึ้นโดย State -owned Assets Supervision and Administration Commission (SASAC) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางทรงอิทธิพลที่กำกับดูแลการลงทุนภาครัฐของจีน ที่เป็นบริษัทใหญ่ระดับโลกในหลายอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมเหล็ก
พลังงาน ชิปปิ้งและการสื่อสารโทรคมนาคม
SASAC ไม่ได้ตอบคำถามของรอยเตอร์ โดยทาง Sinopec และ China Merchant Group ก็ไม่ได้ตอบอีเมลของรอยเตอร์เช่นกัน
“ธุรกิจระดับใหญ่ในฮ่องกงไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่ไม่ใช่ของเรา” ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจรายหนึ่งซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วยให้ข้อมูลกับรอยเตอร์
หาวเผิง ประธานบริหารจากพรรคคอมมิวนิสต์ที่ดูแล SASAC ปรากฎตัวในฮ่องกงเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ในการประชุมโครงสร้างพื้นฐาน Belt and Road และระบุว่า SOEs กำลังมองหาหนทางที่จะประสานความร่วมมือในโครงการสำคัญในฮ่องกง จากข้อมูลของ SASAC โดยมีกลุ่มผู้บริหาร SOE มาพร้อมกับเขา และได้เข้าพบแคร์รี แลม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงด้วยกัน
รัฐบาลปักกิ่งมีเจตนากดดันธุรกิจในฮ่องกงเพื่อให้แสดงความรักชาติมากขึ้น โดยมีท่าทีไม่พอใจในการประชุมเดือนส.ค.กับกลุ่มผู้บริหารธุรกิจขนาดใหญ่ ที่พวกเขาไม่พยายามช่วยยุติการประท้วง จากรายงานของสำนักข่าวซินหัว
ในการประชุมเมื่อเดือนส.ค. กับ 500 ผู้นำธุรกิจและนักการเมืองที่สนับสนุนปักกิ่งจากฮ่องกง ทางการจีนกระตุ้นว่า พวกเขาไม่ควรกลัวและควรยืนหยัดเพื่อหยุดความรุนแรงในฮ่องกง สำนักข่าวซินหัวรายงาน
สายการบินคาเธย์แปซิฟิก กลายเป็นองค์กรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หลังจากทางปักกิ่งเรียกร้องให้ไล่พนักงานที่เข้าร่วมการประท้วงออก โดยประธานประกาศแผนลงจากตำแหน่งในเดือนพ.ย.นี้ ไม่ถึงสามสัปดาห์หลังจากซีอีโอ Rupert Hogg ขอลาออก
ขณะที่ MTR Corp ผู้ให้บริหารรถไฟฟ้าใต้ดินถูกกดดันในเดือนส.ค.ให้เข้มงวดกับกลุ่มผู้ประท้วงที่ต่อต้านรัฐบาล หลังจากสื่อภาครัฐของจีนแสดงความไม่พอใจบริษัทที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ประท้วงในการแพร่กระจายความรุนแรง.