จีนเน้นพัฒนาเมืองให้แตกต่าง
เมืองต่างๆ ในจีนควรหลีกเลี่ยงการพัฒนาไปในรูปแบบเดียวกันกับการพัฒนาในเขตเมืองชั้นในของเมืองใหญ่และมุ่งเน้นไปที่คุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละเมือง อ้างอิงจากนโยบายของทางรัฐบาลที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา
การพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วใน 40 กว่าปีของจีนที่ผ่านมา เป็นการพัฒนาที่ตั้งเป้าเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทำให้มีการทำลายอาคารเก่าแก่ไปเป็นจำนวนมากและแทนที่ด้วยตึกระฟ้ารูปทรงโฉบเฉี่ยวแปลกตาและอาคารใหญ่โตมากมาย
ในขณะที่บางสถานที่ในเซี่ยงไฮ้ และเทียนจินเป็นตัวอย่างที่ดีในการอนุรักษ์และปกป้องมรดกทางวัฒนธรรม เช่น อาคารที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมในยุคอาณานิคมหลายแห่งในสองเมืองนี้ แต่ในบางเมืองต้องสูญเสียอาคารทางประวัติศาสตร์ไปอย่างน่าเสียดาย
“ ควรมีการขัดเกลาอย่างเอาใจใส่และเลือกใช้วัฒนธรรมและสัญลักษณ์ที่โดดเด่น ใส่เข้าไปในการวางแผนพัฒนาผังเมืองชั้นในและในเมืองต่างๆ ควรมีพื้นที่สาธารณะสำหรับประติมากรรม จตุรัส และส่วนอื่นๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้รูปแบบเดียวกันซ้ำๆ ไม่ควรพัฒนาเมืองหลายเมืองให้มีหน้าตาเหมือนกันหมด”
ในหลายพื้นที่ของจีน มีการทำลายอาคารเก่าไปมากมายในห้วงเวลาก่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศในช่วงปี 2513 และสามารถย้อนไปถึงช่วงเวลาก่อนที่จีนจะมีการปฏิวัติการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ในปี 2492
พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองเก่าในกรุงปักกิ่ง รวมถึงกำแพงเมืองทั้งหมดถูกทำลายลงเพื่อสร้างทางเดินไปที่จตุรัสเทียนอันเหมินและหอประชุมใหญ่ของประชาชน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสภาประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีขนาดใหญ่
ทั้งนี้ ในเอกสารของรัฐบาลยังได้เอ่ยถึงพรรคคอมมิวนิสต์ว่า เป็นความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ที่จะต้องปกป้องและส่งเสริมวัฒนธรรมเก่าแก่ดั้งเดิมของจีน
โดยเอกสารที่เป็นแนวทางสำคัญนี้ยังได้เอ่ยถึงความจำเป็นในการปกป้องหมู่บ้านเก่าแก่ดั้งเดิมของจีน และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งวรรณกรรม ร้อยกรอง ดนตรี การเต้นรำ อักษรวิจิตร และจิตรกรรม
นอกจากนี้ ในคำแนะนำนี้ยังมีการมุ่งเน้นให้ช่วยกันปกป้องภาษาถิ่น ซึ่งเสื่อมความนิยมลงในห้วงเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากการขับเคลื่อนของรัฐบาลที่ผ่านมาที่ต้องการให้ประชาชนในประเทศติดต่อสื่อสารกันด้วยภาษาที่เป็นทางการเพียงภาษาเดียวเท่านั้น คือภาษาจีนกลาง หรือแมนดาริน.