สมุนไพรจีนยังเป็นยารักษาโรคในใจผู้ป่วย
ร่วมค้นหาโอกาสความร่วมมือของไทย เมื่อกว่างซีโชว์ศักยภาพ “การแพทย์ทางเลือก”
คุณเคยได้ยินชื่อยาจีนแคปซูลชื่อ ‘เหลียนฮัว ชิงเวิน’ หรือไม่ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ตลาดยาสมุนไพรในประเทศจีนมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปฏิเสธไม่ได้ว่า… การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดยาสมุนไพร และทำให้ศาสตร์การแพทย์ทางเลือก หรือ Alternative Medicine อย่างการรักษาด้วยยาสมุนไพรได้หวนคืนสู่สายตาของผู้คนในฐานะตัวเลือกที่ช่วยรักษาและฟื้นฟูอาการ “Long COVID” ในปัจจุบัน
ทราบหรือไม่ว่า… ชาวจีนมีค่านิยมและพฤติกรรมการใช้ยาสมุนไพรในการดูแลสุขภาพและรักษาโรค โดย “ยาจีนสำเร็จรูป” ยังคงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยชาวจีน โดยชาวจีนเชื่อว่า ยาสมุนไพรมีความปลอดภัย ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย เมื่อเทียบกับยาฝรั่ง นอกจากนี้ ชาวจีนยังใช้ยาสมุนไพรจีนบางชนิดเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารและเครื่องดื่มเพื่อบำรุงสุขภาพและเพิ่มรสชาติให้กับอาหารอีกด้วย
เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “คลังสมุนไพรธรรมชาติ” และ “แหล่งกำเนิดยาสมุนไพรจีน” ของประเทศจีน จากสถิติพบว่า กว่างซีมีแหล่งทรัพยากรสมุนไพรมากถึง 7,506 ชนิด ซึ่งมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ กล่าวได้ว่า เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นหนึ่งในมณฑลที่มีทรัพยากรวัตถุดิบยาสมุนไพรที่สมบูรณ์ของจีน
กว่างซีมีพืชสมุนไพรท้องถิ่นที่เป็น ‘อัตลักษณ์กว่างซี’ จำนวน 31 ชนิด อาทิ ฟ้าทะลายโจร กระดูกเกลี้ยง (Sarcandra Glabra) โสมเถียนชี (บ้างก็เรียกโสมซานชี) และเป็นพืชสมุนไพรชนิดเดียวกันที่ให้สรรพคุณทางยาชั้นเลิศ (เมื่อเทียบกับการปลูกในพื้นที่อื่น) จำนวน 10 ชนิด อาทิ อบเชย หล่อฮังก๊วย โป๊กกั๊ก หวายเลือดไก่ (Spatholobi Caulis) กำจัดหน่วย (Zanthoxylum nitidum)
นอกจากนี้ เขตฯ กว่างซีจ้วง ถือเป็น Gateway ของการนำเข้า-ส่งออกวัตถุดิบยาสมุนไพรกับประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย ในแต่ละปีการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนผ่านด่านในกว่างซีมีสัดส่วนกว่า 60%-70% ของทั้งประเทศจีน ปัจจุบัน กว่างซีจ้วงมีด่านที่ได้รับอนุมัติให้นำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรได้ 5 ด่าน ได้แก่ ด่านหนานหนิง และด่านทางบกผิงเสียง ด่านทางบกตงซิง ด่านทางบกหลงปัง และด่านทางบกอ้ายเตี้ยน
เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงของแพทย์แผนจีน โดยเฉพาะการแพทย์ชนชาติส่วนน้อย–จ้วง และ เย้า และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการแพทย์ของชนชาติจ้วงและเย้า เมื่อไม่นานมานี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงได้จัดทำ “แผนการดำเนินงานในโครงการสำคัญว่าด้วยการพลิกฟื้นและพัฒนาการแพทย์แผนจีนและการแพทย์แผนชนชาติจ้วงและเย้าของเขตฯ กว่างซีจ้วง” (广西中医药壮瑶医药振兴发展重大工程实施方案)
เนื้อหาบางส่วนในแผนการดำเนินงานข้างต้น ได้ระบุถึง การส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือที่เปิดสู่ภายนอกด้านการแพทย์และยาสมุนไพรจีน โดยเฉพาะกับชาติสมาชิกอาเซียน ครอบคลุมทั้งด้านการเพาะพันธุ์ การศึกษาวิจัย และการค้า
อาทิ การจัดตั้ง “ธนาคารพันธุกรรมพืชสมุนไพรแห่งชาติจีนสาขากว่างซี” และ“ธนาคารพันธุกรรมพืชสมุนไพรที่โดดเด่น” (Germplasm Bank of Featured Medicinal Plants/特色药用植物种质库) ที่มุ่งสู่อาเซียน เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมพืชสมุนไพรชนิดหลักๆ ที่มีการหมุนเวียนระหว่างตลาดจีนกับอาเซียน
การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการแพทย์ของชนชาติจ้วงและเย้า โดยการผลักดันการบูรณาการด้านการแพทย์แผนจีนกับการพัฒนา “เขตนำร่องการเปิดสู่ภายนอกด้านการแพทย์นานาชาติฝางเฉิงก่าง” (Fangchenggang International Medical Opening-up Pilot Zone/防城港国际医学开放试验区) ในเมืองฝางเฉิงก่าง และเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) โดยการดึงดูดให้บริษัทนำเข้าและแปรรูปยาสมุนไพรเข้าไปจัดตั้งกิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงการส่งเสริมให้การแพทย์ของชนชาติจ้วงและเย้ามีส่วนร่วมในงานด้านการป้องกันและควบคุมโรคระบาดใหญ่ โดยเฉพาะการพัฒนาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศด้านการป้องกันและควบคุมโรคระบาด ทั้งในด้านวิชาการ เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์
การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการแพทย์แผนจีน อาทิ ศูนย์ความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์ดั้งเดิมจีน(กว่างซี)-อาเซียน (China-ASEAN Traditional Medicine Exchange and Cooperation Center (Guangxi) /中国–东盟传统医药交流合作中心(广西)) ศูนย์วิจัยและพัฒนายาแผนโบราณจีน(กว่างซี)-อาเซียน (China(Guangxi)-ASEAN Traditional Medicine Research and Development Center/中国(广西)-东盟传统药物研发中心) ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะแสดงบทบาทสำคัญในการแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างจีน(กว่างซี)กับอาเซียน
นอกจากนี้ ยังมีการเร่งผลักดันการก่อสร้างฐานส่งออกการบริการยาสมุนไพรจีนแห่งชาติของมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนกว่างซี (National Traditional Chinese Medicine Export Service Base of Guangxi University of Chinese Medicine) ทั้งในด้านบุคลากร การบริการทางการแพทย์ การวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีเภสัชกรรม เทคโนโลยีการแพทย์และการรักษาผ่านระบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการผลักดันกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและข้อกำหนดทางเทคนิคเกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณ และขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพระหว่างกว่างซีกับอาเซียน รวมถึงการส่งเสริมการยอมรับร่วมกันในด้านยาแผนโบราณจีน-อาเซียน
การพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนการค้าวัตถุดิบยาสมุนไพรทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์ อาทิ การสนับสนุนให้ “เมืองยวี่หลิน” (Yulin City /玉林市) เป็นศูนย์กลางเครื่องเทศสมุนไพรจีนระดับอินเตอร์ ทั้งด้านการซื้อขาย กระจายสินค้า กำหนดราคา และการแปรรูปเชิงลึก เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่อุตสาหกรรมสมุนไพรจีนข้ามพรมแดน
จากข้อมูล พบว่า ในช่วง 5 เดือนแรก ปี 2566 เขตฯ กว่างซีจ้วงมีปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพร 9,229 ตัน เพิ่มขึ้น 71.6% ถ้าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 87.857 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 115.7% (YoY) ส่วนมากนำเข้าจากประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา รวมถึงไทยด้วย
บีไอซี เห็นว่า ความใกล้ชิดกันทางด้านภูมิศาสตร์ รวมถึงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ทำให้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเป็นการแพทย์ทางเลือกที่ได้รับการยอมรับในประเทศสมาชิกอาเซียนพอสมควร ในฐานะ Gateway to ASEAN ของจีน เขตฯ กว่างซีจ้วงมีข้อได้เปรียบทั้งด้านทำเลที่ตั้ง (ติดกับอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเล) ด้านแหล่งทรัพยากรยาสมุนไพรกว่างซี และด้านคมนาคมขนส่งที่มีความสะดวกรวดเร็วและทันสมัย จึงเป็น “ประตูการค้า” วัตถุดิบยาสมุนไพรที่สำคัญของจีนกับอาเซียน และเป็น “แพลตฟอร์ม” ที่จีนกับอาเซียนสามารถใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์และเภสัชกรรมร่วมกัน
ประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่กําหนดให้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะที่ถูกตามกฎหมาย โดยสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยก็มีการพัฒนาหลักสูตรการแพทย์แผนจีนแล้วหลายแห่ง บีไอซี เห็นว่า หน่วยงาน/องค์กรทุกภาคส่วนในไทยที่มีความสนใจในเรื่องการแพทย์และพืชสมุนไพรจีน สามารถแสวงหาช่องทางการพัฒนาความร่วมมือกับจีนผ่านแพลตฟอร์ม/กลไกที่เขตฯ กว่างซีจ้วงจัดตั้งขึ้นข้างต้น โดยเฉพาะด้านการศึกษาและบ่มเพาะบุคลากร ด้านงานวิจัยทางคลินิก และด้านการค้าสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง
ขอขอบคุณ
จัดทำโดย : นางสาวฉิน ยวี่อิ๋ง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 11 กรกฎาคม 2566
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (广西新闻网) วันที่ 5 กรกฎาคม 2566
เว็บไซต์ www.customs.gov.cn (南宁海关) วันที่ 4 กรกฎาคม 2566