คุนหมิงเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงจีนกับประเทศเพื่อนบ้าน
นครคุนหมิงอยู่ระหว่างการเร่งพัฒนาระบบคมนาคมของนครคุนหมิง ภายใต้
“แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 (2564-2568) และกรอบเป้าหมายระยะยาว ปี 2578” “กรอบการพัฒนาประเทศที่มีระบบคมนาคมที่แข็งแกร่ง” และ “กรอบแผนเครือข่ายคมนาคมแบบสามมิติระดับชาติ”
โดยสำนักงานคมนาคมและการขนส่งของนครคุนหมิงได้จัดทำ “แผนระบบคมนาคมนครคคุนหมิง ปี 2564-2578” เพื่อศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์การพัฒนาระบบคมนาคมและการขนส่งของนครคุนหมิง กำหนดจุดเน้นหลักในการพัฒนาระบบคมนาคมของนครคุนหมิงภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว นำเสนอแนวคิด เป้าหมาย และกลยุทธ์ในการพัฒนาระบบคมนาคมที่มีเหมาะสมกับนครคุนหมิง สร้างระบบคมนาคมที่จัดวางตำแหน่งอย่างสมบูรณ์แบบ มีโครงสร้างที่เหมาะสม และใช้ประโยชน์ได้ชัดเจน และเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทั้งในระยะใกล้และระยะยาว
ปัจจุบัน “แผนระบบคมนาคมนครคุนหมิง ปี 2564-2578” อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคสังคมและภาคประชาชน โดยสามารถสรุปสาระสำคัญของแผนดังกล่าวในแต่ละด้านได้ ดังนี้
การคมนาคมทางอากาศ ผลักดันให้นครคุนหมิงเป็นศูนย์กลางการบินระหว่างประเทศ โดยขยายศักยภาพของท่าอากาศยานนานาชาติฉางสุ่ยนครคุนหมิง (Kunming Changshui International Airport) ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของจีน รองจากปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการขยายท่าอากาศยาน ประกอบด้วย อาคารเทียบอากาศยานรองหลังที่ 1 (S1) ซึ่งเปิดใช้งานแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 อาคารพักรอผู้โดยสารหลังที่ 2 (T2) และอาคารเทียบอากาศยานรองหลังที่ 2 (S2) เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยเป็น 1,510,000 ตารางเมตร และเพิ่มทางวิ่งเป็น 5 เส้น เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 120 ล้านคน เที่ยวบินปีละ 762,000 เที่ยว และการขนส่งสินค้าปีละ 1,200,000 ตัน ภายในปี 2573
เมื่อผนวกศักยภาพของท่าอากาศยานกับศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน (Ground Transportation Center – GTC) ที่ตั้งอยู่ใต้ดินของท่าอากาศยานซึ่งประกอบด้วยเส้นทางรถไฟความเร็วสูงคุนหมิง-ฉงชิ่ง และรถไฟฟ้าใต้ดินที่เชื่อมการเดินทางกับตัวเมืองนครคุนหมิง จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 140 ล้านคนและการขนส่งสินค้าปีละ 1.4 ล้านตันภายในปี 2578
นอกจากนี้ ยังมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินระหว่างนครคุนหมิงกับเมืองในประเทศเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเปิดเที่ยวบินใหม่กับเมืองในประเทศเอเชียตะวันตกและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อตอบสนองความต้องการเดินทางของประชาชนในพื้นที่และการส่งเสริมการให้บริการเปลี่ยนเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานนานาชาติฉางสุ่ยนครคุนหมิง
ในระยะยาวนครคุนหมิงยังมีแผนดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งที่สองในเวลาที่เหมาะสม โดยจะเลือกสถานที่ก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งที่สองของนครคุนหมิงในระยะรัศมีไม่เกิน 200 กิโลเมตร ทั้งนี้ ปัจจุบัน มณฑลยูนนานมีท่าอากาศยานที่เปิดให้บริการแล้วรวม 18 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือเตรียมการก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 11 แห่ง โดยมีท่าอากาศยานนานาชาติฉางสุ่ยนครคุนหมิง เป็นท่าอากาศยานหลักของมณฑล
การคมนาคมระบบราง ส่งเสริมสถานะของนครคุนหมิงในการเป็นศูนย์กลางคมนาคมระบบรางระหว่างประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เส้นทางรถไฟระหว่างประเทศ 5 เส้นทางและเส้นทางรถไฟระหว่างมณฑล 8 เส้นทาง” โดยเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศ 5 เส้นทางเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ (1) คุนหมิง-โม่ฮาน (จีน-ลาว) เส้นทางรถไฟจีน-ลาวเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 (2) คุนหมิง-เหอโข่ว (จีน-เวียดนาม) มีรถไฟความเร็วสูงจากนครคุนหมิงถึงด่านเหอโข่ว โดยระหว่างด่านเหอโข่วกับด่านหล่าวไกของเวียดนาม มีรถไฟจีน-เวียดนามขนาดรางกว้าง 1 เมตรที่ใช้ขนส่งสินค้า (3) คุนหมิง-รุ่ยลี่ (จีน-เมียนมา) เปิดใช้งานช่วงคุนหมิง-ต้าหลี่-เป่าซานแล้ว ขณะที่ช่วงเป่าซาน-รุ่ยลี่ ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดแล้วเสร็จปี 2567 โดยจะเชื่อมต่อกับรถไฟเส้นทางมูเซ-มัณฑะเลย์-จ้าวก์ผิ่ว และมูเซ-มัณฑะเลย์-เนปยีดอ-ย่างกุ้งในเมียนมาต่อไป (4) คุนหมิง-เหมิ้งติ้ง (จีน-เมียนมา) เปิดใช้งานช่วงคุนหมิง-ต้าหลี่-หลินชางแล้ว ขณะที่ช่วงหลินชาง-เหมิ้งติ้ง ยังไม่เริ่มการก่อสร้าง และ (5) คุนหมิง-โหวเฉียว (จีน-เมียนมา-อินเดีย) ซึ่งจะเชื่อมต่อ จากเส้นทางรถไฟความเร็วสูงคุนหมิง-ต้าหลี่-เป่าซาน โดยช่วงเป่าซาน-เถิงชง-โหวเฉียว ยังไม่เริ่มการก่อสร้าง
สำหรับเส้นทางรถไฟระหว่างมณฑล 8 เส้นทาง ได้แก่ 1.เส้นทางยูนนาน-ทิเบต 2.เส้นทาง คุนหมิง-เฉิงตู (มณฑลเสฉวน) 3.เส้นทางคุนหมิง-เนยเจียง (มณฑลเสฉวน) 4.เส้นทางคุนหมิง-ฉงชิ่ง 5.เส้นทางคุนหมิง-กุ้ยหยาง (มณฑลกุ้ยโจว) 6.เส้นทางคุนหมิง-เซี่ยงไฮ้ 7.เส้นทางคุนหมิง-หนานหนิง (เขตฯ กว่างซี) และ 8.เส้นทางยูนนาน-กว่างซี ขณะนี้เส้นทางส่วนใหญ่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ยกเว้นเส้นทางยูนนาน-ทิเบตช่วงลี่เจียง-แชงกรีลา-ทิเบต และเส้นทางคุนหมิง-ฉงชิ่ง
นับจนถึงปี 2565 มณฑลยูนนานมีเส้นทางรถไฟที่เปิดใช้งานแล้ว 4,981 กิโลเมตร ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 1,212 กิโลเมตร สามารถเดินทางจากนครคุนหมิงไปยังหัวเมืองสำคัญของจีนได้ภายใน 8 ชั่วโมง เดินทางถึงเมืองเอกของมณฑลข้างเคียงได้ภายใน 3 ชั่วโมง และเดินทางถึงเมืองในภาคกลางของมณฑลยูนนานได้ภายใน 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ มณฑลยูนนานมีแผนที่จะบรรลุเป้าหมายในการมีเส้นทางรถไฟที่เปิดใช้งานแล้ว 6,000 กิโลเมตร ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 1,600 กิโลเมตร ให้ได้ภายในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 (2564-2568)
การคมนาคมทางบก นอกจากยุทธศาสตร์เชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านทางด่วนระหว่างประเทศ 5 เส้นทางเช่นเดียวกับการคมนาคมระบบรางแล้ว ยังมีทางด่วนระหว่างมณฑล7 เส้นทาง แบ่งเป็น 1.เส้นทางคุนหมิง-ปักกิ่ง 2.เส้นทางรุ่ยลี่ (ชายแดนเมียนมา)-หังโจว (มณฑลเจ้อเจียง) 3.เส้นทางคุนหมิง-เซี่ยงไฮ้ 4.เส้นทางคุนหมิง-ซัวเถา (มณฑลกวางตุ้ง) 5.เส้นทางคุนหมิง-กว่างโจว (มณฑลกวางตุ้ง) 6.เส้นทางคุนหมิง-หยินชวน (เขตฯ หนิงเซี่ย) และ 7.เส้นทางยูนนาน-ทิเบต
นครคุนหมิงมีเป้าหมายในการเปิดใช้งานทางด่วนให้ได้มากกว่า 1,800 กิโลเมตร รวมทั้ง เป้าหมายที่จะมี “ทางด่วน 2 ทิศทางช่องจราจรเชื่อมทุกอำเภอ” ภายในปี 2578 ขณะที่ในภาพรวมของมณฑลยูนนาน นับจนถึงสิ้นปี 2565 มณฑลยูนนานมีทางหลวงระยะทางกว่า 300,000 กิโลเมตร ในจำนวนนี้ เป็นทางด่วนกว่า 10,000 กิโลเมตร สูงเป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากมณฑลกวางตุ้ง และยังเชื่อมโยงครบ 129 อำเภอและอำเภอ (ระดับเมือง) ใน 16 เมืองของมณฑล ตามนโยบาย “ทางด่วนเชื่อมทุกอำเภอ” เพื่อยกระดับศักยภาพในการขนส่งโดยมีนครคุนหมิงเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านกับระเบียบเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River Economic Belt) เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง (Pan-Pearl River Delta Economic Zone) และเขตวงแหวนเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่ง (Chengdu-Chongqing Economic Circle)
การคมนาคมทางน้ำ เร่งพัฒนาระบบการขนส่งและเส้นทางการขนส่งทางน้ำในแม่น้ำจินซา (Jinsha River) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River) โดยผลักดันการก่อสร้างท่าเรือตงชวนในอำเภอตงชวนและท่าเรือลู่เชวี่ยนในอำเภอลู่เชวี่ยนของนครคุนหมิง และการสร้าง “ลิฟต์ยกเรือ” ข้ามเขื่อนโรงไฟฟ้าอูตงเต๋อในแม่น้ำจินซา รวมทั้ง การก่อสร้างถนนตามแนวแม่น้ำเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า โดยนครคุนหมิงมีเป้าหมายปริมาณการขนส่งสินค้าทางน้ำกว่า 5.2 ล้านตัน ภายในปี 2578
นอกจากนี้ ในภาพรวมของมณฑลยูนนาน ยังมีท่าเรือกวนเหล่ยในเขตฯ สิบสองปันนาเป็นท่าเรือสำคัญในการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าบนแม่น้ำล้านช้าง/แม่น้ำโขง (Lancang/Mekong River) เชื่อมกับประเทศไทย ลาว และเมียนมา สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ปีละ 100,000 คน และปริมาณสินค้าได้ปีละ 150,000 ตัน
การคมนาคมระบบรางในเขตเมือง ปัจจุบัน นครคุนหมิงมีเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินที่เปิดให้บริการแล้ว 6 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวม 165.85 กิโลเมตร โดยนครคุนหมิงมีแผนที่จะก่อสร้างและเปิดให้บริการการขนส่งระบบรางในเขตเมืองให้ได้ 15 เส้นทางภายในปี 2578 คิดเป็นระยะทางรวม 635 กิโลเมตร นอกจากนี้ หากมีความจำเป็นและความเป็นไปได้ในการพัฒนาความเป็นเมืองในระยะยาว นครคุนหมิงก็อาจจะก่อสร้างเส้นทางขนส่งระบบรางในเขตเมืองเพิ่มอีก 5 เส้นทาง รวมเป็น 20 เส้นทางภายในปี 2593 รวมระยะทางทั้งสิ้น 879 กิโลเมตร
โครงสร้างพื้นฐานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้น ภายใต้เป้าหมายในการพัฒนามณฑลยูนนานให้มีศักยภาพด้านคมนาคมที่แข็งแกร่ง มีระบบคมนาคมที่ทันสมัยและระบบโลจิสติกส์ทั้งภายในมณฑล ภายในประเทศ และระหว่างประเทศเชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นครคุนหมิงในฐานะเมืองเอกของมณฑลยูนนาน จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาเส้นทางคมนาคมในทุกมิติ สร้างเส้นทางการขนส่งหลากหลายรูปแบบ (multimodal transportation) ที่ครอบคลุม มีคุณภาพ มีความทันสมัย และมีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะวกและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพื่อผลักดันบทบาทของนครคุนหมิงในการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างสมบูรณ์ต่อไป