พายุทรายคลุมปักกิ่ง
ปักกิ่ง – เช้าวันที่ 15 มี.ค. กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีนถูกปกคลุมด้วยฝุ่นสีน้ำตาลหนา ซึ่งเป็นผลมาจากลมพายุแรงที่พัดโหมมาจากเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน และพื้นที่ส่วนอื่นทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
กรมอุตุนิยมวิทยาของจีนประกาศสัญญาณเตือนระดับสีเหลืองในเช้าวันที่ 15 มี.ค. โดยระบุว่า พายุทรายได้พัดจากมองโกเลียในเข้ามาที่มณฑลกานซู ซานซี และเหอเป่ย ซึ่งอยู่รอบๆกรุงปักกิ่ง
มองโกเลียที่อยู่ใกล้เคียงก็ถูกกระทบจากพายุทรายหนา โดยสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า มีผู้สูญหายอย่างน้อย 341 ราย เที่ยวบินต้องจอดที่ฮูเหอเฮ่าเท่อ เมืองเอกของมองโกเลียใน
“มันเหมือนเป็นวันสิ้นโลก” ฟลอรา โจว ชาวกรุงปักกิ่ง วัย 25 ปี ซึ่งทำงานด้านแฟชั่น “ในสภาพอากาศแบบนี้ ฉันไม่อยากออกจากบ้านเลย”
มีการยกเลิกเที่ยวบินขาเข้าและขาออกจากสนามบินกรุงปักกิ่งและสนามบินปักกิ่งต้าซิงในช่วงบ่ายถึง 1 ใน 5 มากกว่าช่วงปกติในฤดูพายุทราย จากข้อมูลของ Variflight ผู้ให้บริการข้อมูลการบิน
ตัวเลขดัชนีคุณภาพอากาศทางการของปักกิ่งพุ่งสูงถึง 500 ในเช้าวันที่ 15 มี.ค. และฝุ่นจิ๋ว PM2.5 สุงทะลุเกิน 8,000 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ในบางเขต จากศูนย์เฝ้าระวังมลพิษทางอากาศของเมือง
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของฝุ่นจื๋ว PM2.5 ไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัม
โดยค่าฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่อ่านได้ยังสูงกว่า 300 ไมโครกรัมต่อลบ.ม. สูงกว่ามาตรฐานของจีนซึ่งอยู่ที่ 35 ไมโครกรัม
กระทรวงสิ่งแวดล้อมคาดการณ์ว่าพายุทรายจะพัดไปทางใต้ที่ปากแม่น้ำแยงซี และอาจพัดหายไปหมดภายในวันที่ 17 – 18 มี.ค.นี้
กรุงปักกิ่งต้องเผชิญกับพายุทรายเป็นประจำในเดือนมี.ค. และเม.ย.เนื่องจากอยู่ใกล้กับทะเลทรายโกบี รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่าและการพังทลายของดินทางตอนเหนือของจีน
จีนพยายามจะปลูกป่าทดแทนและฟื้นฟูระบบนิเวศในภูมิภาคนี้เพื่อจำกัดไม่ให้ทรายพัดปลิวมาที่เมืองหลวง
โดยกรุงปักกิ่งได้ปลูกต้นไม้หนาแน่นเป็นกำแพงต้นไม้สีเขียวขนาดใหญ่เพื่อดักสกัดฝุ่น และพยายามสร้างระเบียงอากาศที่เป็นช่องทางลม เพื่อให้ทรายและมลพิษอื่นๆผ่านได้เร็วขึ้น
ในปีที่แล้ว กระทรวงสิ่งแวดล้อมระบุว่า สถานการณ์ดีขึ้น โดยพายุทรายครั้งแรกนี้มาถึงกรุงปักกิ่งช้ากว่าเดิม และอยู่ไม่นานเท่ากับที่เคยเป็นเมื่อทศวรรษก่อน
กรุงปักกิ่งและพื้นที่โดยรอบต้องประสบปัญหามลพิษระดับสูงในช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้ โดยเมืองถูกหมอกควันปกคลุมในช่วงที่มีการประชุมสภาแห่งชาติ ซึ่งเริ่มในวันที่ 5 มี.ค.
“ มันยากที่จะบอกว่าเรากำลังเดินไปข้างหน้าหรือเปล่า เพราะเรามองไม่เห็นทางเลย” หลี่ฉั่ว ที่ปรึกษาสภาพอากาศของกรีนพีซในกรุงปักกิ่งทวีตข้อความบนทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 15 มี.ค.