สภาที่ 3 แนะรัฐ หยุดซื้ออาวุธ ระดมความคิดฟื้นเศรษฐกิจไทย
สภาที่ 3 เตือน รัฐบาล ปัญหาเศรษกิจหลังโควิด-19 ด้าน “พิชัย” แนะหยุดอ้างซื้ออาวุธเพื่อลูกหลาน “ธีระชัย” เสนอลงแขกทางความคิด
(8 ก.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาที่ 3 ร่วมกับ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดเสวนา “แนะทางออกประเทศไทยจากวิกฤติเศรษฐกิจ หลังโควิด-19”
มีวิทยากร ประกอบด้วย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 , นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน , นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง , รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมลํ้า วุฒิสภา ดำเนินรายการโดยนายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
นายอดุลย์ กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนลำบากมาก เชื่อว่านับตั้งแต่เดือน ก.ค.นี้เป็นต้นไป ประเทศไทยจะได้เห็นคำเตือนที่ว่า นรกมีจริง ซึ่งรัฐบาลต้องไม่ทำงานแบบฉาบฉวย แต่ปัจจุบันรัฐบาลกลับเล่นการเมืองแบบโบราณ ไม่รับฟังความเห็นของคนรุ่นใหม่ มีการทุจริต เล่นการเมืองน้ำเน่า ขาดวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจ นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำและยากจน
ในสถานการณ์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จำเป็นต้องทบทวนตัวเอง อย่าคิดว่าทำให้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว จะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้โดยง่าย เพราะที่ผ่านมาทีมเศรษฐกิจรัฐบาลถือว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง การจะอยู่ต่อนั้น จะต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ให้ทันสถานการณ์ หากจะปรับ ครม.ต้องให้สอดคล้องกับสภาวะปัญหาของเศรษฐกิจและสังคมไทย
ทางด้าน นายพิชัย กล่าวว่า ไทยจะฟื้นเศรษฐกิจกลับมาเข้มแข็งได้ ต้องมีผู้นำที่ฉลาดและมีวิสัยทัศน์ แต่วันนี้กลับตรงกันข้าม ดังนั้น ขอเสนอแนวทางการแก้ไขหนี้และฟื้นเศรษฐกิจ 6 แนวทาง ประกอบด้วย 1.เปลี่ยนรัฐบาล ในเมื่อรัฐบาลไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ ก็ต้องเปลี่ยน 2.สร้างรายได้ โดยต้องคำนึงการสร้างรายได้ของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ ต้องมีแผนงานชัดเจนว่าจะหารายได้จากไหนในอนาคต
3.ต้องใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะภาครัฐ เพราะปัจจุบันการใช้จ่ายภาครัฐเป็นเครื่องจักรเดียวที่เหลืออยู่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องเลิกคิดได้เลยว่าจะซื้ออาวุธเพื่อลูกหลาน เพราะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ เหมือนไฟกำลังไหม้บ้าน แต่กลับเอาน้ำไปรดต้นไม้
4.การเข้าถึงแหล่งทุน รัฐบาลอาจมีความจำเป็นต้องกู้เงินอีกเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาลจะต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่าเงินที่กู้มานั้นจะต้องใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด 5.ปรับปรุงประเทศให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ 6.ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส เช่น การลดราคาพลังงาน การลดราคาสาธารณูปโภค พร้อมการสร้างงานเพื่อให้เกิดการจ้างงาน เป็นต้น
ขณะที่ รศ.ดร.สังศิต เห็นว่า เศรษฐกิจสังคมไทยในวันนี้มืดไปหมด ไม่มีความแน่นอน คนไทยไม่รู้อนาคตของตัวเอง คนจำนวนมากยากลำบากทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ขอเสนอรัฐบาลแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มจากภาคการเกษตร ที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำสูง โดยประเทศไทยมีเกษตรกรอยู่ในเขตชลประทานแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำ
“ถ้าจะเอาให้สุด ขอเสนอให้รัฐบาลทำฝายน้ำล้นทุกๆ 5 กิโลเมตร ใน 25 ลุ่มน้ำของไทย โดย 1 ฝายใช้เงินประมาณ 5 แสนบาท 25 ลุ่มน้ำใช้เงินไม่เกิน 2.5 พันล้านบาท โดย 1 ฝายใช้เวลาสร้างประมาณ 10 วันเสร็จ ทั้งหมด 25 ลุ่มน้ำสามารถสร้างเสร็จได้ใน 2 เดือน มุ่งไปยังพื้นที่น้ำแล้ง น้ำท่วม ยากจน เชื่อว่าจะช่วยประชาชนได้มาก
ซึ่งจะสามารถแก้ไขน้ำท่วมและมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี การทำฝายแบบนี้เหมือนกับเรามีเขื่อนหลายเขื่อน โดยต้องให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วย แนวทางนี้ ประเทศไทยจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเพียง 2 ปี คนจะมีอาชีพ รายได้และมีเงินขึ้นมาทันที” รศ.ดร.สังศิต กล่าว
รศ.ดร.สังศิต กล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐบาลควรเปิดให้แม่ค้า หาบเร่แผงลอยได้ขายของ เพื่อให้คนมีงานทำ และควรแจกจ่ายที่ดินเพื่อการเกษตร เพื่อสร้างแรงจูงใจในการผลิต ส่วนการแก้ไขหนี้สินของเกษตรกร ขอเสนอให้รวมหนี้สินทั้งของกองทุนหมู่บ้านและ ธกส.เป็นก้อนเดียว พร้อมจัดทำแผนบริหารจัดการหนี้ให้คนอาชีพอื่นๆ เช่น ข้าราชการ ครู เป็นต้น
ส่วน นายธีระชัย กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจจากโควิด-19 ครั้งนี้ หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งและแฮมเบอร์เกอร์ หนักถึงขั้นวิกฤตเศรษฐกิจปี 1930 แต่การบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย ทำให้เกิดฟองสบู่ รัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงแค่ลมปาก แต่ใช้หลักเศรษฐศาสตร์น้ำตก โดยให้ประโยชน์แก่คนรวยแล้วหวังว่าเงินจะไหลลงสู่ระดับล่าง ซึ่งการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งค่อนข้างสูง
นายธีระชัย กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาหนี้ให้ประชาชนนั้น รัฐบาลจำต้องบีบธนาคารพาณิชย์ ให้ลดดอกเบี้ย เพราะถือว่าได้กำไรจากประชาชนไปมากแล้ว พร้อมเสนอให้ รื้อกระบวนการผูกขาดทั้งธุรกิจไฟฟ้า น้ำมัน และทรัพยากรธรรมชาติ รื้อกฎหมายที่เอื้อต่อการผูกขาดเพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แข่งขัน มีระบบป้องกันปราบปรามคอรัปชั่น โดยต้องไม่ถูกแทรกแซง เลื่อนตำแหน่งข้าราชการ ต้องเป็นอิสระจากนักการเมือง ดึงเงินนอกกองทุนงบประมาณ ให้เข้าสู่ระบบ สร้างกลไกลประชาชน ควบคุม ตรวจสอบ เสนอนโยบายได้อย่างแท้จริง
“ วิกฤตโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเมืองอย่างมาก จำเป็นต้องหยุดความขัดแย้งทางการเมืองไปก่อน หรือ จะให้ดีต้องปิดสวิตช์ทางการเมือง 2 ปี การจะฟื้นฟูจากวิกฤตโควิด-19 จะต้องมีการลงแขกทางความคิดอย่างกว้างขวาง แต่ด้วยความที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหนึ่งในผู้ขัดแย้ง การจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ จะต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีเสียก่อน ” นายธีระชัย กล่าว