คปภ.แจงทำประกันหวังเงินเคลม 120 ล้านบาท

คืบหน้าล่าสุด! คดีบุคคลสวมชื่อทำกรมธรรม์ประกันภัย ก่อนจัดฉากฆ่า หวังเอาเงินประกันภัย มูลค่ารวมกว่า 120 ล้านบาท
ตามที่ปรากฏข้อร้องเรียนต่อเพจต้นอ้อมูลนิธิเป็นหนึ่ง และการนำเสนอข่าวในรายการโหนกระแส นายธนาญวัฒน์ ธนินอมรวิสิฐ (นายธนาญวัฒน์ฯ) เล่าว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2565 นายธนาญวัฒน์ฯ ขับขี่รถจักรยานยนต์ เกิดอุบัติเหตุถูกรถกระบะขับชน เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ โดยนายธนาญวัฒน์ฯ เชื่อว่าผู้ขับขี่รถกระบะคันดังกล่าว คือ นายบอย (ไม่ทราบชื่อ-สกุล) ซึ่งเป็นตำรวจในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ต่อมา นางสาวพัชรวรินทร์ สันติพงษ์ไพบูลย์ (นางสาวพัชรวรินทร์ฯ) ภรรยาของ นายธนาญวัฒน์ฯ ได้ตรวจพบว่ามีการทำกรมธรรม์ประกันชีวิตและกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุในนามของนายธนาญวัฒน์ฯ และนางสาวพัชรวรินทร์ฯ มูลค่าความคุ้มครองรวมกว่า 120 ล้านบาท โดยมีการระบุชื่อผู้รับประโยชน์คือ นางสาววัชรี ผลพิมาย (นางสาววัชรีฯ) ญาติของนางสาวพัชรวรินทร์ฯ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนางสาววัชรีฯ นอกจากนี้ นางสาวพัชรวรินทร์ฯ ได้พบใบเสร็จตรวจร่างกายของ นายธนาญวัฒน์ฯ ซึ่งลงวันที่ขณะที่นายธนาญวัฒน์ฯ ยังรับโทษอยู่ในเรือนจำ ประกอบกับได้เห็นข้อความการสนทนาในแอพพลิเคชันไลน์ระหว่างนางสาววัชรีฯ และสามีของนางสาววัชรีฯ ว่า นางสาววัชรีฯ สั่งฆ่านายธนาญวัฒน์ฯ ด้วยหลักฐานทั้งหมดที่ปรากฏเป็นเหตุให้นายธนาญวัฒน์ฯ และนางพัชรวรินทร์ฯ เชื่อว่า นางสาววัชรีฯ เป็นผู้ทำประกันภัย โดยอาศัยชื่อของบุคคลทั้งสอง ก่อนจัดฉากฆาตกรรมเพื่อหวังเอาเงินประกันภัย
ภายหลังทราบข่าวนายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย มิได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ฯ ดังกล่าว จึงมีบัญชาให้นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการด้านกฎหมายและตรวจสอบ เป็นประธานในการประชุมหารือร่วมกับบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 13พฤษภาคม 2568 และนายจอม จีระแพทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมายและคดี ได้มีหนังสือเชิญให้ตัวแทนประกันภัยที่เสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยจากการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ปรากฏว่า ตั้งแต่ปี 2563 นายธนาญวัฒน์ฯ มีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันชีวิตและกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ รวม 36 กรมธรรม์ ทุนเอาประกันภัย 119,522,325 บาท โดยกรมธรรม์ประกันภัยของนายธนาญวัฒน์ฯ จำนวน 19กรมธรรม์ ระบุชื่อ นางสาววัชรีฯ เป็นผู้รับประโยชน์ โดยอ้างสถานะเป็นภรรยา ส่วนนางสาวพัชรวรินทร์ฯ มีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันชีวิตและกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ รวม 22 กรมธรรม์ ทุนเอาประกันภัย 56,577,300 บาท โดยกรมธรรม์ประกันภัยของ นางสาวพัชรวรินทร์ฯ ปรากฏชื่อ มารดาของนางสาวพัชรวรินทร์ฯ และป้าของนางสาวพัชรวรินทร์ฯ ซึ่งเป็นมารดาของนางสาววัชรีฯ เป็นผู้รับประโยชน์ รวมกรมธรรม์ประกันภัยทั้งหมด 58 กรมธรรม์ ทุนประกันภัยกว่า 176 ล้านบาท จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม สำนักงาน คปภ. พบว่า ระยะเวลาที่จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยนั้น อยู่ระหว่างการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยมี 2 แบบ คือ การพบหน้า (Face-to-face) และผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (Facebook) โดยผ่านกระบวนการยืนยันตัวตน (KYC) โดยซึ่งตัวแทนประกันภัยที่เสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยทั้งหมดข้างต้นจะได้รับการติดต่อจากนางสาววัชรีฯ เพื่อซื้อกรมธรรม์ให้แก่นายธนาญวัฒน์ฯ และนางสาวพัชรวรินทร์ฯ โดยอ้างว่านายธนาญวัฒน์ฯ เป็นสามี และนางสาวพัชรวรินทร์ฯ เป็นญาติ แต่ใบคำขอเอาประกันภัยปรากฏลายมือชื่อนายธนาญวัฒน์ฯ และนางสาวพัชรวรินทร์ฯ ประกอบกับ ตัวแทนประกันภัยบางรายได้ให้ปากคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ผู้เอาประกันภัยทั้ง 2 ราย อยู่ในเหตุการณ์การ เสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งบริษัทประกันภัยทุกแห่งได้รับชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยโดยการโอนเงินจากบัญชีธนาคารของนายธนาญวัฒน์ฯ และนางสาวพัชรวรินทร์ฯ เอง จึงเป็นเหตุให้บริษัทประกันภัยเชื่อได้ว่า บุคคลทั้งสองได้แสดงเจตนาทำกรมธรรม์ประกันภัยด้วยตนเอง จึงพิจารณารับประกันภัย ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่ากรมธรรม์ประกันภัยทุกฉบับของนายธนาญวัฒน์ฯ และนางสาวพัชรวรินทร์ฯ มิได้จัดทำขึ้นขณะอยู่ในเรือนจำแต่อย่างใด แต่ในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยบางฉบับที่มีการขอเอกสารประวัติสุขภาพเพิ่มเติม มีการขอเอาประกันภัยก่อนเข้าเรือนจำเพียง 2-3 วัน เป็นเหตุให้อาจมีการนำส่งเอกสารและพิจารณารับประกันภัยระหว่างที่ผู้เอาประกันภัยอยู่ในเรือนจำ จึงอาจทำให้ปรากฏข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้
สำนักงาน คปภ. ขอเรียนว่า ตามหลักกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยนั้น สัญญาประกันภัยมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งต้องอาศัยการแสดงเจตนาของคู่สัญญา โดยผู้รับประกันภัยตกลงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และมีผู้เอาประกันภัยซึ่งมีความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัยได้ตกลงจะชำระเบี้ยประกันภัยด้วยตนเอง เพื่อให้สัญญาประกันภัยมีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ ในการแสดงเจตนาเพื่อเอาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยต้องเป็นผู้แสดงเจตนาด้วยตนเอง เช่น การกรอกข้อมูลและลงลายมือชื่อ ในใบคำขอเอาประกันภัย นอกจากนี้ ในการทำสัญญาประกันภัย มีหลักกฎหมายสำคัญที่กำหนดให้ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย มิเช่นนั้น สัญญาประกันภัยจะไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างใด หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าในการทำสัญญาประกันภัยดังกล่าว ผู้เอาประกันภัยไม่ได้เป็นผู้แสดงเจตนาในการทำสัญญาประกันภัย และไม่ได้เป็นผู้ชำระเงิน ค่าเบี้ยประกันภัย และในการทำสัญญาประกันภัยก็ไม่ปรากฏว่าบุคคลผู้ทำสัญญาประกันภัยนั้นมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยหรือมีบุคคลทำตัวเป็นนายทุนออกค่าเบี้ยประกันภัยให้โดยไม่มีส่วนได้เสีย บริษัทประกันภัยในฐานะคู่สัญญาจะไม่มีความผูกพัน ในการให้ความคุ้มครองหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย และอาจยึดหน่วงเงินที่มีการนำส่งให้บริษัทประกันภัย ไว้จนกว่าจะมีการพิสูจน์เจตนาได้ว่ามีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวเพื่อวัตถุประสงค์ใด หากมีข้อสงสัยประการใด สามารถติดต่อสายด่วน คปภ. โทร. 1186
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : คปภ.-ก.ล.ต.-ธปท. เดินหน้าเสริมแกร่ง Financial Influencer