“ยาง-เครื่องปรุงรส” ดาวเด่น ช่วงโควิด
ในช่วงวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้หลายประเทศปิดโรงงานผลิต หรือชะลอการผลิตรถยนต์ แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อความต้องการยางลดลงด้วย
แต่…สำหรับยางไทยกลับมียังโอกาสขยายการส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง นั่นเป็นเพราะว่า…ทั่วโลกยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันไวรัสเพิ่มมากขึ้น อาทิ ถุงมือยาง ยางสังเคราะห์ที่ใช้ทำถุงมือยาง
จากรายงานการส่งออก “ผลิตภัณฑ์ยางและยางแปรรูป” ของไทยไปตลาดโลกของไทยช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.63) พบว่า มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น ยางล้อรถยนต์ ถุงมือยาง ยางยืด ยางรัดของ และยางสังเคราะห์ เป็นต้น ไปตลาดโลกมีมูลค่า 1,969 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
และส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ยอดส่งออก “ผลิตภัณฑ์ยางและยางแปรรูป” เพิ่มขึ้น ก็มาจากความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่ไทยทำกับประเทศคู่ค้า
ฉะนั้น FTA จึงถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยขยายตัว เนื่องจากสินค้าไทยไม่ถูกเก็บภาษีศุลกากรในประเทศผู้นำเข้า
ปัจจุบันไทยมี FTA 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ซึ่งมี 14 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้า “ผลิตภัณฑ์ยาง” ส่งออกจากไทยแล้ว ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู และฮ่องกง ยังเหลืออีก 4 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ อินเดีย และ ชิลี ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางบางรายการจากไทย เช่น จีน เก็บภาษียางสังเคราะห์ อัตรา 5% เกาหลีใต้ เก็บภาษียางและสังเคราะห์ อัตราร้อยละ 5 อินเดีย เก็บภาษียางนอกชนิดที่ใช้กับรถยนต์นั่ง และของที่ทำด้วยยาง เช่น rubber band อัตราร้อยละ 5 และชิลี เก็บภาษียางนอกชนิดที่ใช้กับรถยนต์นั่งและรถบัสอัตรา 1.32% เป็นต้น
เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าส่งออก “ผลิตภัณฑ์ยาง” ไทยไปตลาดโลก ในปี 2562 กับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลง FTA ฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลใช้บังคับ พบว่าไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ยางไปตลาดโลก เพิ่มสูงขึ้นถึง 2,981% และส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ยางไปประเทศคู่ FTA ขยายตัวถึง 5,970%
และหากแยกรายตลาด พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ยางของไทยไปประเทศคู่ FTA เพิ่มขึ้นทุกตลาด (เว้นฮ่องกงที่เพิ่งเริ่มใช้บังคับมิถุนายน 2562) โดยอาเซียนขยายตัวสูงสุดถึง 5,674% รองลงมา จีน ขยายตัว 2,721% นิวซีแลนด์ ขยายตัว 706% และเกาหลีใต้ ขยายตัว 574% สอดคล้องกับสถิติที่พบว่าผลิตภัณฑ์ยางเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกเป็นอันดับต้น
นอกจากนี้ “เครื่องปรุงรส” ของไทย ก็เป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่ง ที่เป็น ดาวเด่นช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19…
เนื่องเพราะประชาชนหันมาประกอบอาหารรับประทานเองมากขึ้น ทำให้เครื่องปรุงรสประกอบอาหารสำเร็จรูป เช่น ซอสพริก ซอสถั่วเหลือง น้ำปลา เครื่องแกงปรุงรส ผงปรุงรส เป็นต้น ได้รับความนิยมมากขึ้น จึงเป็นโอกาสขยายตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
จะเห็นได้ว่า ช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.)ของปี 63 ไทยส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารเป็นมูลค่าสูงถึง 135.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562
ตลาดสำคัญขยายตัวทุกตลาด โดยเฉพาะ “เกาหลีใต้” ขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 33 รองลงมา คือ อาเซียน ขยายตัวร้อยละ 25 และออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 25 นอกจากนี้ ทำให้ไทยขยับขึ้นครองตำแหน่งผู้ส่งออกเครื่องปรุงรสอาหาร อันดับที่ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และจีน จากเดิมที่อยู่ในอันดับที่ 6 ในปี 2562
แน่นอนว่า FTA ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนให้สินค้าเครื่องปรุงรสอาหารของไทยเติบโต เพราะจาก FTA ทั้ง 13 ฉบับ ที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบัน มีผลให้ 15 ประเทศคู่ FTA ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ฮ่องกง ชิลี และเปรู ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารจากไทยแล้ว เหลือเพียง 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่ยังคงภาษีนำเข้าในสินค้าบางรายการ ทำให้ในปี 2562 ไทยส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารสู่ตลาดโลก เป็นมูลค่าสูงถึง 790 ล้านเหรียญสหรัฐ
เมื่อตลาดเครื่องปรุงรสอาหารไทยมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ และควรให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานและส่วนผสมของวัตถุดิบ
รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภค ทั้งด้านความสะดวกสบาย และการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรเจาะตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรีด้วยเช่นกัน.